ยินดีต้อนรับ

พลเมืองที่รอบรู้เท่าทัน คือ พลังประชาธิปไตยที่แท้จริง
Well-informed citizens are the true democratic forces.

Monday, February 8, 2021

อดีตข้าราชการสรรพากรวัย 64 ถูกตัดสินจำคุก 87 ปี จากความผิด 112 รวมทั้งสิ้น 29 กรรม

บทสรุปคือ มาตรา 112 คือกฎหมายล้าหลัง ป่าเถื่อน เมื่อถูกนำมาใช้ทางการเมือง

___________________________
112 ก้องโลก - สื่อต่างชาติประโคมข่าว "อัญชัญ" อดีตข้าราชการสรรพากรวัย 64 ถูกตัดสินจำคุก 87 ปี จากความผิด 112 รวมทั้งสิ้น 29 กรรม ศาลลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือ 29 ปี 174 เดือน

สื่อฝรั่งตกตะลึงพรึงเพริด เพราะไม่เคยเห็นความผิดหมิ่นประมาทมีโทษหนักขนาดนี้ แม้เป็นความผิดต่อองค์ประมุข ที่รัฐไทยอ้างว่าประเทศไหนๆ ก็มี แต่อังกฤษญี่ปุ่นเลิกใช้ไปนานแล้ว ประเทศที่ยังมีใช้อยู่เช่นซาอุฯ บรูไน ที่ปกครองด้วยราชาธิปไตย ก็ไม่ได้ใช้จนเป็นแชมป์อย่างประเทศไทย

ซึ่งชาชินเสียจนสื่อไทยไม่สนใจ ประเด็นใหญ่ที่สุดในโลกต้องปกป้องเสรีภาพสื่อถูกลุงพลทำร้าย

น่าเสียดายไม่มีใครอธิบายให้ฝรั่งฟังว่า คดีนี้อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์ศาล ซึ่งลงโทษต่ำที่สุดแล้ว เพราะมาตรา 112 กำหนดโทษ 3-15 ปี แปลว่า 3 ปีคือโทษขั้นต่ำ ศาลตัดสินจำคุกน้อยกว่านี้ไม่ได้ 3 ปี 29 กรรมเป็น 87 ปี ศาลยังปรานีลดให้เหลือ 43 ปีครึ่ง ซึ่งลดได้มากที่สุดแค่นั้น

คดีนี้ยังมีปัญหาความลักลั่น ผิดเพี้ยน ของการบังคับใช้กฎหมาย "อัญชัญ ถูกฟ้อง 39 กรรม จากการช่วยเผยแพร่คลิป "บรรพต" นักจัดรายการวิทยุใต้ดิน เจ้าทฤษฎี Conspiracy ที่เชื่อว่าทักษิณจะได้กลับบ้านด้วยวิธีพิเศษ ได้รับความนิยมจาก FC สูงวัย เพราะพูดเรื่องสุขภาพ สมุนไพรต้านมะเร็ง ไข่ดอง น้ำส้มสายชูหมัก ฯลฯ พร้อมกับขายสินค้า

อัญชัญถูกทหารบุกจับเป็นคนแรกเมื่อปี 58 แล้วกลุ่มแฟนคลับที่เชื่อมโยงในการขายสินค้าหาทุนให้บรรพต รวมทั้งตัวบรรพตและภรรยา 16 คน ก็ถูกจับในเวลาต่อมา ทุกคนรับสารภาพ ถูกศาลทหารตัดสินจำคุก 10 ปี ลดเหลือ 5 ปี แต่หลังจากถูกขังอยู่ 1 ปี 10 เดือน 19 วัน บรรพตก็ได้ปล่อยตัว

คงเหลือแต่อัญชัญ ซึ่งเป็นคนเดียวที่ถูกฟ้อง 29 กรรม ฐานช่วยแพร่คลิป 29 ครั้ง จึงสู้คดี ถูกขังอยู่ 3 ปี 9 เดือน 9 วัน จนวันที่ 2 พฤศจิกายน 2561 ได้ประกัน แล้วหลังหมด ม.44 คดีก็โอนมาศาลพลเรือน

สถานการณ์ช่วงนั้นเริ่มมี "ความหวัง" กับ 112 หลายคดียกฟ้อง ศาลลงโทษความผิดอื่นที่เบากว่า ผู้ต้องขังบางคนก็ได้อภัย อัญชัญจึงตัดสินใจรับสารภาพ โดยคิดไม่ถึงว่าเท่ากับรับผิด


อัญชัญคร่ำครวญว่า ทำไมคนพูดเป็นพันคลิปถูกฟ้องกรรมเดียว คนเผยแพร่ถูกฟ้อง 29 กรรม มาตรฐานการบังคับใช้กฎหมายอยู่ตรงไหน


ถ้าไปถาม "สลิ่ม" คงตอบได้ง่ายมาก งั้นไปจับบรรพตมาฟ้องใหม่ 1,000 กรรม ติดคุกขั้นต่ำ 3,000 ปี ถือว่ายุติธรรม

ทั้งที่นั่นคือภาพสะท้อนปัญหาบังคับใช้ 112 เพราะไล่ดูย้อนหลัง หน่วยงานที่ส่งฟ้องเป็นคนละหน่วยกัน ในช่วงหนึ่งอัยการสูงสุดจึงมีคำสั่งให้รวบคดีมาสั่งฟ้องผู้เดียว ป้องกันการใช้ 112 กลั่นแกล้งกัน หรือการสั่งคดีโดยไม่มีมาตรฐาน มองการเอาผิดเป็นผลงานแสดงความจงรักภักดี

112 โดยตัวมันเองจึงมีปัญหาทั้งตัวบทกฎหมายและการบังคับใช้ เริ่มจากการไม่ยกเว้นความผิดแม้แสดงความเห็นโดยสุจริตหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ นำไปสู่การตีความเอาผิดได้อย่างกว้างขวาง บางคดีเกินตัวบทกฎหมายกันเห็นๆ เช่นโดน 112 ฐานหมิ่นประธานองคมนตรี

การเพิ่มโทษสูงลิ่ว ที่ตั้งแต่หลัง 6 ตุลา 2519 มีโทษจำคุก 3-15 ปี (สูงกว่าสมัยรัชกาลที่ 5 จำคุกไม่เกิน 7 ปี) ก็ส่งผลต่อความยุติธรรม เช่นตั้งแต่ถูกจับก็ไม่ได้ประกันเพราะอ้างว่าโทษสูงเกรงจะหลบหนี ซึ่งมีผลบีบคั้นให้จำใจรับสารภาพ เพราะหากสู้คดีกว่าจะถึงฎีกาก็ติดคุกยาวอยู่ดี รีบๆ สารภาพดีกว่าจะได้ลดโทษ และยังมีหวังได้ปล่อยตัว

ยกตัวอย่าง "รุ่งศิลา" ศาลตัดสินจำคุก 6 ปี ให้การเป็นประโยชน์ลดเหลือ 4 ปี 6 เดือน แต่สู้คดีในเรือนจำมาแล้ว 4 ปี 11 เดือน 18 วัน ถ้ารับสารภาพตั้งแต่แรก ก็อาจลดโทษเหลือ 3 ปี ติดคุกจริงอาจไม่ถึง 2 ปีประพฤติดีได้ปล่อยตัว

112 จึงเป็นอันตรายต่อทุกฝ่ายในการนำกลับมาใช้ ทั้งที่ประยุทธ์เคยพูดไว้อีกอย่าง แม้ฝ่ายอนุรักษนิยมอาจมองว่าสถานการณ์เปลี่ยนไป เพราะคนรุ่นใหม่เป็นภัยคุกคาม บังอาจท้าทายกันโต้งๆ จำเป็นต้องใช้เพื่อสยบ โดยลดวิธีการบังคับใช้ เช่นออกหมายเรียกแล้วปล่อยตัว และยังให้ประกัน โดยหวังว่าจะจำกัดการท้าทายลงได้

แต่ก็ไม่ประเมินอีกนั่นแหละว่า สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปคือคนรุ่นใหม่ทะลุเพดานความกลัวแล้ว และใช้การท้าทายเป็นอาวุธ รณรงค์ยกเลิก 112 ยิ่งโดนมากยิ่งมีเพื่อน โดนกันเป็นร้อยๆ คน (ล่าสุด ได้ธนาธรไปเป็นเพื่อนอีกคน) ยิ่งโดนหนักยิ่งไม่มีผล เช่น เพนกวิน รุ้ง โดนคนละสิบกว่าคดี ยังไงๆ ก็คุกห้าสิบหกสิบปี ฉะนั้นเอาอีกๆ ยิ่งไม่เกรงใจ

รัฐไทยอาจไม่แยแสโลก ปิดประเทศก็ได้ แต่นึกภาพดูถ้า 112 ขยาย โดนกันเยอะไปหมด ท้าทายเต็มไปหมด จะหาจุดลงเอยอย่างไร

Credit:  มิตรสหายทางไลน์

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.