ยินดีต้อนรับ

พลเมืองที่รอบรู้เท่าทัน คือ พลังประชาธิปไตยที่แท้จริง
Well-informed citizens are the true democratic forces.

Thursday, July 14, 2016

รังสิมันต์ โรม เล่าประสบการณ์ในคุกและการพันธนาการด้วยกุญแจเท้า ยืนยันรณรงค์ไม่รับรัฐธรรมนูญต่อไป

รังสิมันต์ โรม เล่าประสบการณ์ในคุกและการพันธนาการด้วยกุญแจเท้า ยืนยันรณรงค์ไม่รับรัฐธรรมนูญต่อไป

รังสิมันต์ โรม นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ เล่าประสบการณ์ในเรือนจำ 12 วัน ว่าสิ่งที่น่าห่วงที่สุดก็คือสุขภาพของคนในเรือนจำ ซึ่งมีโอกาสจะป่วยด้วยโรคติดต่อได้ง่าย เนื่องจากถูกขังรวมกันจำนวนราว 40 คนต่อ ห้องขัง 1 ห้อง และมีเพียงผ้าห่ม 3 ผืนให้ใช้สำหรับปูนอน หนุน และห่ม ซึ่งไม่เพียงพอต่อการทำให้ร่างกายอบอุ่นโดยเฉพาะในเวลาที่อากาศหนาวเย็นและเปียกชื้น แม้ว่าเรือนจำจะมีมาตรการดูแลสุขภาพผู้ต้องขัง แต่จำนวนบุคลากรก็อาจจะไม่เพียงพอ

ผลการตรวจสุขภาพของเขาและเพื่อนๆ หลังออกจากเรือนจำ พบว่า 6 คนมีสุขภาพแข็งแรง ขณะที่อีกหนึ่งคน แพทย์ตรวจพบลักษณะเหมือนลิ่มเลือดในปอด ต้องรอเวลาอีก 2 เดือนเพื่อตรวจซ้ำอีกครั้งว่ามีอาการของโรคระบบทางเดินหายใจหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เขายืนยันว่า แม้จะถูกจับกุมและกล่าวหาว่ากระทำผิดมาตรา 61 พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ซึ่งกำหนดโทษจำคุกไว้ถึง 10 ปี ปรับไม่เกินสองแสนบาท และศาลอาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไม่เกิน 5 ปี เขาและเพื่อนก็จะรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญต่อไป และยืนยันว่าสิ่งที่เขานำเสนอไม่ใช่การบิดเบือน แต่เป็นการตีความตามหลักกฎหมาย และเสนอความเห็นแย้งซึ่งเป็นสิ่งที่ควรกระทำได้ และทางที่ดีหากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหรือ กรธ. เห็นว่ากลุ่มของเขาเข้าใจคลาดเคลื่อนในจุดไหน ก็ควรจะได้อภิปรายกันด้วยหลักวิชาการ

สำหรับความเคลื่อนไหวของ กรธ. วันนี้คณะอนุกรรมการด้านเนื้อหา จะประชุมหารือโดยเชิญนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร่วมหารือเกี่ยวกับเอกสารของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ และเอกสารอื่นๆ ที่ กรธ. เห็นว่าเป็นการบิดเบือนเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อหาแนวทางต่อไปว่าจะดำเนินการอย่างไร

มาตรา 61 วรรคสอง พระราชบัญญัติประชามติ เป็นบทบัญญัติที่ถูกหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีเนื้อหาคลุมเครือและอาจจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออก โดยมีเนื้อหาว่า "ผู้ที่ดําเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย"

อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าเนื้อหาของบทบัญญัตินี้ไม่ขัดกับหลักสิทธิเสรีภาพที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.