วงเสวนา "นิติราษฎร์" ชี้ประชามติ ไม่สำคัญเท่ากติกาที่เป็นธรรม ย้ำ รธน.จะยั่งยืนได้ ปชช.ต้องยอมรับ ไม่เห็นด้วย แก้ รธน.ด้วยรถถัง แนะนำฉบับปี 40 เป็นจุดเริ่มมาทำใหม่
เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.59 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ มีการจัดเสวนา "รัฐธรรมนูญ" พร้อมเปิดตัวหนังสือ "รัฐธรรมนูญ : ประวัติศาสตร์ข้อความคิด อำนาจสถาปนา และการเปลี่ยนผ่าน" ซึ่งเป็นหนังสือที่รวบรวมบทความของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ.กลุ่มนิติราษฎร์
นายปิยบุตร กล่าวว่า ปัจจุบันหากเราพูดถึงรัฐธรรมนูญ พบว่า นำปัญหาทุกอย่างใส่รัฐธรรมนูญ เราข้ามความคิดไปว่าอำนาจสูงสุดคือประชาชน ไม่ใช่เครื่องมือการปฏิรูปอย่างเดียว ดังนั้นเราต้องยกระดับคุณค่าว่ารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชนจริงๆ เพราะทุกวันนี้รัฐธรรมนูญเป็นเอกสารสัมพันธภาพทางอำนาจสองความคิดทางการเมือง ซึ่งยังไม่มีใครชนะหรือแพ้เด็ดขาด คนที่ครอบงำสังคมยังชนะอยู่ โดยใช้วิธีแก้ปัญหาคือฉีกรัฐธรรมนูญ แต่ทำอย่างไรก็ไปไม่ถึงที่สุดว่าจะให้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนจริงหรือไม่
ด้าน นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเชื่อมโยงระเบียบทางการเมืองที่เที่ยงธรรม ตนเห็นว่ารัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบที่ดีที่สุด ขณะที่คำปรารภในร่างรัฐธรรมนูญของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. พูดถึงแต่ปัญหา แต่ไม่พูดถึงการก่อตั้งชุมชน หรือรากฐานที่แท้จริง ทั้งนี้ส่วนตนเห็นว่า การที่ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติ ก็ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะทำให้รัฐธรรมนูญยั่งยืน ในทางกลับกันคนที่มีความคิดเห็นต่างกัน แต่คุณค่าพื้นฐานแบบนามธรรมที่เป็นอารยะ ความเสมอภาค การยอมรับ และการออกแบบกติกาที่มีความชอบธรรมนั้น จะทำให้รัฐธรรมนูญยั่งยืน ขณะเดียวการออกเสียงประชามติภายใต้กติกาปัจจุบันนี้ จะเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม คนมีวิจารณญาณคิดเอง ถ้ามีสติตนเชื่อว่าจะบอกได้ว่าเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม อย่างไรก็ตามตนไปออกเสียงประชามติ แต่จะวินิจฉัยอย่างไรให้ดูหน้าตนเองไว้
ขณะที่ นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่รับมาตรา 35 คือไม่รับอำนาจของรัฐประหารโดยตรง ส่วนตนเห็นว่าเราไม่ควรแก้รัฐธรรมนูญด้วยรถถัง เอาฉบับ 40 เป็นจุดเริ่มแล้วนำมาทำใหม่
No comments:
Post a Comment
Note: Only a member of this blog may post a comment.