'ประยุทธ์' แจง ละเมิดสิทธิกับการบังคับใช้กฎหมาย เป็นปัญหาทั้งโลก สั่งสำนักโฆษกฯ-กรมประชาฯ ดูประเด็นบิดเบือนจากสื่อเตรียมฟ้องเอาผิด
เมื่อเวลา 15.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ภายใต้กลไกยูพีอาร์ (Universal Periodic Review : UPR) รอบที่ 2 ต่อที่ประชุมคณะทำงานยูพีอาร์ สมัยที่ 25 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ว่า ไม่ได้เรียกประเทศไทยไปชี้แจงประเทศเดียว มีการเรียกทั้งหมด 130 กว่าประเทศ ในฐานะประเทศสมาชิกของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ซึ่งก็มีการย้อนไปถึงรัฐบาลชุดที่ผ่านมาด้วยว่ามีอะไรบ้าง ถ้าจำไม่ผิดรัฐบาลที่แล้วมีเรื่องที่เขาแจ้งมาเป็นร้อยเรื่องเข่นกัน และแก้ไขได้เพียงร้อยละ 20 วันนี้มีการเสนอมา 249 เรื่อง แก้ไขได้เพียง 181 เรื่อง ก็รับมาทั้งหมด เราต้องแก้ไขประมาณร้อยละ 70 ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศมหาอำนาจที่ว่าเราบางประเทศรับมา 380 กว่าเรื่อง สามารถแก้ไขปัญหาได้ไม่ถึงครึ่ง แสดงว่ามันเป็นปัญหาของโลกทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการบังคับกฎหมาย ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละประเทศ ว่ากำลังทำอะไรกันอยู่ สิ่งสำคัญเราต้องไม่ทิ้งพันธกรณีดังกล่าว ในเรื่องของสิทธิมนุษยชนเราก็ระวังมาตลอด
"อยากจะชี้แจงให้เกิดความเข้าใจ และแยกแยะว่า คนที่กระทำความผิดที่ต้องถูกเรียกตัวมาดำเนินการก็มี 2 ลักษณะ คือเรียกตัวมาแล้วก็ปล่อยกลับไปถือว่าเป็นความเมตตาแล้ว เพราะถ้าว่ากันตามคดีมันผิดทั้งหมด แต่ถ้าไม่ร้ายแรงผมก็สามารถผ่อนผันให้ได้ แต่ถ้ามันร้ายแรง เป็นประเด็นที่ทำร้ายคนไทยทั้งชาติ ผมยอมไม่ได้ ก็ต้องให้เป็นเรื่องของศาล และผมก็ได้สั่งให้ชี้แจงไปว่าการที่นำตัวขึ้นศาลทหารนั้นก็เหมือนกับศาลธรรมดา แต่ที่เป็นศาลทหารเนื่องจากใช้คณะในการพิจารณาเป็นทหาร จบจากทหารพระธรรมนูญ ซึ่งเรียนจบกฎหมายมาทั้งหมดแตกต่างกันก็แค่มียศเท่านั้น แต่ใช้วิธีการพิจารณาของศาลปกติ สามารถประกันได้ มีทนายได้ ผมอยากจะถามว่าใช้ศาลทหารมันผิดตรงไหน และที่ต้องใช้ศาลทหารก็เพราะสถานการณ์มันไม่ปกติ คนเหล่านี้ไม่เคารพกฎหมายปกติ เรื่องเหล่านี้สื่อช่วยแยกให้หน่อย ไม่ใช่ว่าเราต้องการไปปิดบังบิดเบือน หรือต้องการไปละเมิดสิทธิ์ ขอให้ไปดูให้ชัดว่าใครไปละเมิดสิทธิ์ใคร เขาละเมิดสิทธิ์ผมหรือเปล่า ในการที่ผมกำลังทำงานให้กับประเทศดูว่าเขาละเมิดสิทธิ์ประชาชนหรือไม่ ถ้าสื่อฟังแล้วไปขยายความก็ขัดแย้งก็อยู่แบบนี้ และสิ่งที่จะตามมาคือต่างชาติไม่เข้าใจเรา ทั้งที่ความจริงมันไม่ใช่ การที่จะเข้ามาค้าขายหรือลงทุนก็ไม่มั่นใจ ดังนั้นจะทำอะไรก็ต้องระมัดระวัง ผมขอแค่นี้ ช่วยกันดูว่าประเทศจะเดินต่อไปอย่างไร ผมไม่ได้ไปโมโหสื่อเพราะไม่ได้เขียนเชียร์ผม ยืนยันว่าไม่ต้องมาเชียร์เพราะไม่ว่าจะอย่างไร ผมก็อยู่อยู่แล้ว แม้จะว่าผมผมก็อยู่ เพราะผมต้องอยู่ ทำไมถึงไม่เข้าใจว่าผมกำลังทำอะไรในหลายๆ อย่าง แล้วมันก็ดีขึ้น"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
No comments:
Post a Comment
Note: Only a member of this blog may post a comment.