ราวสิบกว่าปีมาแล้ว สื่อมวลชนในยุโรปได้แถลงกันยกใหญ่ว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่จะเติบโตเร็วที่สุดในสมัยศตวรรษที่ 21 เพราะเห็นว่ากระแสผู้นับถือเติบโตเร็วมากทั้งในทวีปยุโรป, ออสเตรเลีย และอเมริกาเหนือ ไม่ว่าฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, อังกฤษ, สเปน, ออสเตรเลีย ฯลฯ วัดวาอารามผุดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง คนเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการนำพระพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศฝรั่งเหล่านี้แต่ไหนแต่ไรมาส่วนมากแล้วนับถือศาสนาคริสต์มาก่อน และกระแสชาวคริสต์หันมานับถือพระพุทธศาสนานี้ก็ก่อตัวอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 19
ประเทศยุโรปบางแห่ง เช่น อิตาลีได้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ยกพระพุทธศาสนาให้เป็นหนึ่งในศาสนาสำคัญของชาติ ไม่ต่างอะไรกับศาสนาคริสต์
สมเด็จพระสันตปาปา จอห์น ปอล ที่สอง ซึ่งเป็นประมุขของคริสตจักร นิกายโรมันคาทอลิก ทรงมองเห็นกระแสดังกล่าว ครั้งได้ประทานสัมภาษณ์แก่วิตโดริโอ เมสซุรี่ นักเขียนและนักสื่อมวลชนที่มีชื่อของอิตาลี เมื่อ ค.ศ. 2536 อันเป็นช่วงที่มีการเฉลิมฉลองครบ 15 นับแต่ที่พระองค์ได้ทรงรับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสันตปาปา จึงทรงตั้งพระทัยวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาพระพุทธศาสนาอย่างตรงๆ ต่อมาบทประทานสัมภาษณ์ซึ่งมีหลายตอนนี้มาพิมพ์รวมเล่มในรูปหนังสือชื่อ Crossing the Threshhold of Hope (London, Jonathan Cape, 1994) มีทั้งหมด 244 หน้า (รวมดรรชนีคำศัพท์)
ตอนที่ทรงวิพากษ์วิจารณ์คำสอนพระพุทธเจ้า (ซึ่งทรงเข้าพระทัยผิดๆ อยู่มาก) อยู่ในบทที่ 12 มีทั้งหมด 7 หน้า (ตั้งแต่หน้า 84-90)
สาเหตุที่ทรงวิจารณ์พระพุทธศาสนา มีกล่าวชัดในบทประทานสัมภาษณ์ กล่าวคือทรงต้องการเตือนสติชาวคริสต์ทำนองว่าไม่ควรด่วนเข้าไปนับถือคำสอนพระพุทธศาสนา แต่ควรใช้วิจารณญาณ (For this reason, it is not inappropriate to caution those Christians who enthusiastically welcome certain ideas originating in the religious traditions of the Far East, pp.89-90)
ที่เป็นดังนี้ เพราะกระแสคนหันมานับถือพระพุทธศาสนา และช่วยกันเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างแข็งขันในยุโรป ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมักเป็นชาวคริสต์มาก่อน หลายคนเคยเป็นบาทหลวงระดับสูง ต่อมาก็มีฝรั่งนักวิชาการชาวพุทธหลายคนทั้งพระ ทั้งฆราวาส ซึ่งเคยเป็นชาวคริสต์มาก่อน ได้เขียนตอบโต้พระองค์ลงวารสารต่างๆ มากมาย ที่โดดเด่นก็ คือ กลุ่มพระสงฆ์ชาวอิตาเลี่ยนในอิตาลี นำโดย พระฐานวโร ได้เข้าเฝ้าเพื่อทูลชี้แจงให้สมเด็จพระสันตปาปาทรงทราบด้วยซ้ำว่าทรงอธิบายพระพุทธศาสนาผิดๆ
ยุโรปตอนนี้จึงเหมือนอินเดียครั้งพุทธกาล ศาสนาเดิมที่ผู้คนนับถือคือศาสนาพราหมณ์ แต่เมื่อพระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนาก็มีผู้เคยนับถือศาสนาพราหมณ์มานับถือ และขวนขวายเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นการใหญ่
ที่จริงแล้ว พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงเดือดเนื้อร้อนพระทัยว่าใครจะหันมานับถือศาสนาของพระองค์หรือไม่ ทรงสอนให้ผู้ฟังเทศน์ของพระองค์รู้จักไตร่ตรองหาเหตุผลให้รอบคอบก่อนถึงจะเชื่อ หลายคนที่หันมานับถือคำสอนของพระองค์เคยให้ความอุปถัมภ์ศาสนาอื่นมาก่อนก็มี พระองค์ก็ทรงแนะให้คนเหล่านี้กลับไปคิดให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ มิหนำซ้ำพระองค์ยังคงแนะให้บรรดาผู้หันมานับถือพระพุทธศาสนาเหล่านี้ยังคงอุปถัมภ์บำรุงศาสนาอื่นๆ ที่ตนเคยนับถือตามปกติไปด้วย
แต่เดิม ศาสนาคริสต์ถูกลัทธิมาร์กซ์โจมตีอย่างรุนแรงมาร์กซ์ได้ประณามศาสนาว่า คือยาเสพติด เพราะสอนให้ประชาชนศรัทธาแบบหัวปักหัวปำโดยไม่ใช้ปัญญาไตร่ตรอง หลายอย่างขัดแย้งหลักวิทยาศาสตร์ เช่น โลกแบน, โลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ฯลฯ นักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบความจริงใหม่ ๆ หลายคนถูกศาสนจักรลงโทษจนตายในคุก
แต่เมื่อพระพุทธศาสนาเข้าสู่ยุโรป พระพุทธศาสนาได้สอนให้ปัญญาชนชาวยุโรปได้เข้าใจความหมายของ Religion เสียใหม่ว่า ศาสนาของพระพุทธเจ้าคือคำสอน ซึ่งทรงสอนให้ผู้ฟังใช้ปัญญาพิจารณาอย่างถ่องแท้ก่อนจะปลงใจเชื่อ ไม่ใช่เทวโองการ (Gospel)จากพระเจ้าซึ่งแย้งไม่ได้ พระสงฆ์หรือพุทธสาวกก็มิใช่มิชชันนารี ซึ่งมีภารกิจหลักคือจาริกไปชี้ชวนให้ใครต่อใครมานับถือพระศาสนา พระสงฆ์หรือพุทธสาวกมีหน้าที่เพียงอธิบายคำสอนของพระพุทธเจ้าให้คนที่สนใจฟังเท่านั้น ใครไม่สนใจฟัง ชาวพุทธก็ไม่เคยใช้กฎหมายหรือรัฐธรรมนูญบังคับให้นับถือ ไม่เคยตั้งกองทุนให้การศึกษาฟรี แล้วสร้างเงื่อนไขให้ผู้รับทุนเปลี่ยนมาเป็นชาวพุทธ ไม่เคยสร้างที่พักอาศัยให้หรือแจกทานให้อาหารฟรีๆ แล้ววางเงื่อนไขให้คนมาขออาศัยตนต้องหันมานับถือศาสนาในภาวะจำยอม
ขณะที่ศาสนาคริสต์ต้องใช้ความพยายาม อย่างหนักเพื่อดึงศรัทธาชาวยุโรปให้นับถือเหมือนเดิม ในเวลาเดียวกันก็พยายามแสวงหาผู้นับถือใหม่ๆ ในประเทศเอเชียให้มากยิ่งขึ้น การเผยแพร่หนังสือ "พลังชีวิต" ซึ่งจัดพิมพ์โดยมูลนิธิอาร์เธอร์ เอส เดอมอส ในประเทศไทยคือหนึ่งในความพยายามดังกล่าวนี้
ความใจกว้างและมีหลักคำสอนที่เป็นสัจธรรม เชิญชวนให้มาพิสูจน์ด้วยการปฏิบัติเองและเน้นให้ใช้ปัญญาไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนนับถือ ทำให้พระพุทธศาสนาได้รับการยอมรับจากวิญญูชนไปทั่วโลก นักปรัชญาและนักวิทยาศาสตร์ดัง ๆ ระดับโลกจำนวนมาก เช่น โซเพน ฮาวเออร์, ไอน์สไตน์ ต่างหันมานับถือพระพุทธศาสนา
นับแต่พระพุทธศาสนาเข้ายุโรปสมัยศตวรรษที่ 19 ก็มีงานวิจัยหลายชิ้นแสดงสถิติว่าคนยุโรปและอเมริกาชาติต่าง ๆ หันมาเข้าวัดในพระพุทธศาสนามากขึ้นบ้าง ประกาศตนเป็นพุทธมามกะมากขึ้นบ้าง สถานปฏิบัติธรรมทางพระพุทธศาสนาซึ่งรวมทั้งวัดวาอารามเพิ่มขึ้นที่นั่นที่นี่ประจำบ้าง
เดือน ธ.ค. ที่ผ่านมาก็มีข่าวออกมาอีกว่า ดาราฮอลลี้วูดอังกฤษ ชื่อ ออร์นันโด บลูม ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้แสดงนำในหนังเรื่อง The Lord of the Rings ได้ทำพิธีประกาศตนเป็นพุทธมามกะต่อหน้าสาธารณชนอย่างเป็นทางการไปเรียบร้อยแล้ว
ระหว่างทหารอเมริกันพยายามไล่บี้ทหารอิรักอย่างเมามันตามคำสั่งของประธานาธิบดีบุชไม่นานมานี้ ทหารอเมริกันคนหนึ่งนามว่า เจเรมี่ ฮินซ์แมน วัย 26 ปี ได้ตัดสินใจหนีทัพอเมริกาในอิรักไปปักหลักลี้ภัยในแคนาดา เขาให้เหตุผลว่าสงครามที่อเมริกาทำกับชาวอิรักเป็นสงครามผิดกฎหมาย ประเด็นที่น่าสนใจก็คือเขาเป็นชาวพุทธที่สนใจปฏิบัติธรรมคนหนึ่ง เขาให้สัมภาษณ์ว่าคำสอนพระพุทธศาสนาสอนให้เขาไม่อยากทำสงคราม เขาตั้งปฏิญาณว่าจะรับใช้ชาติหรือพิทักษ์ชาติจากการรุกรานของข้าศึกศัตรู แต่มิใช่ไปทำสงครามแบบก้าวร้าวต่อชาติอื่นดังที่ทหารอเมริกันกำลังทำอยู่ในอิรักเวลานี้
ผมได้ข่าวจากหนังสือพิมพ์ Lanka Daily News ในลังกาตั้งแต่ 23 ต.ค. ที่แล้วว่าปัจจุบันพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เติบโตเร็วที่สุดในแคนาดา ประเทศแคนาดาเป็นประเทศที่มีพื้นที่กว้างที่สุดในอเมริกาเหนือ พระพุทธศาสนาเข้าแคนาดาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และมาบูมขึ้นตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2503-2513 (1960s) เป็นต้นมา ช่วงนั้นมีการสำรวจพบว่าวัดชาวพุทธมีแค่ 18 วัด มีชาวแคนาดาปฏิบัติธรรมราวๆ 10,000 คน แต่เมื่อสำรวจผู้นับถือพระพุทธศาสนาอีกครั้งในพ.ศ. 2528 ชาวพุทธมีเพิ่มขึ้นเป็น 50,000 คน หกปีหลังจากนั้นคือพ.ศ. 2534 รัฐบาลสำรวจคร่าวๆ อีกครั้งพบว่าผู้ประกาศตนเป็นพุทธมามกะมีเพิ่มเป็น163,415 คน รัฐมาสำรวจครั้งล่าสุดอีกครั้ง เมื่อพ.ศ. 2544 พบว่าพุทธมามกะแท้ ๆ มีไม่ต่ำกว่า 5 แสนคน แซงหน้าจำนวนผู้นับถือศาสนาฮินดูและศาสนาซิกข์ ซึ่งเคยตามหลัง จำนวนผู้นับถือยังเติบโตแบบก้าวกระโดดเช่นนี้ทุกปี
ผลสำรวจยังบอกว่าวัด, สถานที่ปฏิบัติธรรม หรือศูนย์กลางของชาวพุทธในแคนาดาตอนนี้มีเกือบๆ จะถึงหนึ่งพันแห่งทั่วประเทศ เมืองที่มีชาวพุทธมากที่สุดคือ ออนตาริโอ, บริติชโคลัมเบีย และควิเบก ข่าวยังลงด้วยว่าแม้จำนวนคนนับถือจะยังอยู่เรือนแสน แต่จำนวนผู้แสดงความสนใจและเริ่มศึกษาพระพุทธศาสนาบ้างแล้วมีหลายล้านคนทั่วประเทศ
เมื่อ 9 พ.ย. ที่ผ่านมา โฆษกประจำรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย กระพือข่าวว่า องค์ทะไลลามะจะได้รับอนุญาตให้เข้ารัสเซีย หลังจากถูกแบนเพราะเกรงจะกระทบความสัมพันธ์กับจีน หลังจากรัสเซียเซ็นสัญญามิตรภาพกับจีน เมื่อ พ.ศ. 2544 แต่ชาวรัสเซียก็แสดงจุดยืนชัดเจนว่าองค์ทะไลลามะจะมาเยือนด้วยภารกิจศาสนา เมื่อกระแสประชาชนเรียกร้องหนักขึ้น รัสเซียก็ยอมอนุญาตให้ท่านเข้ารัสเซียแต่โดยดี ปลาย พ.ย.ที่ผ่านมา ท่านทะไลลามะจึงมีโอกาสแสดงธรรมโปรดพุทธบริษัทและประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกที่เมืองกัลมิเกีย ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงมอสโกประมาณหนึ่งพันไมล์
ชาวรัสเซียหลายคนในเมืองนี้มีบรรพบุรุษเป็นชาวมองโกลซึ่งอพยพจากทางตะวันตกของจีนเข้าสู่รัสเซียเมื่อราว 4 ร้อยกว่าปีมาแล้ว พระพุทธศาสนาที่นำเข้ามาจึงเป็น พระพุทธศาสนาแบบทิเบต ผลปรากฏว่า มีชาวพุทธและผู้สนใจทั่วๆ ไปชาวรัสเซียแห่กันมาฟังธรรมล้นหลามเป็นจำนวนหลายพันคน
ผู้สื่อข่าวรายงานลงใน Ireland Online ว่าจากจำนวนประชากรของเมืองนี้ ทั้งหมดราว 3 แสนคน ประมาณครึ่งหนึ่งนับถือพระพุทธศาสนา รัสเซียมีประชากรราว 144 ล้านคน ในจำนวนนี้มีราว 1 ล้านคน ที่ประกาศตนเป็นพุทธมามกะ
ผมดูภาพรวมพระพุทธศาสนาจากข่าวสารต่างๆ แล้วก็รู้สึกได้ว่าวัฒนธรรมแบบพุทธกำลังเติบโตและเบ่งบานในหลาย ๆ ประเทศของทวีปยุโรป, ออสเตรเลีย และอเมริกาบางแห่ง เช่น รัสเซียแม้จะเติบโตช้า แต่ปีที่กำลังจะผ่านไปนี้ก็เริ่มมีการติดต่อกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ผมคิดว่าปัญญาชนในประเทศทุนนิยมทั่วโลกเวลานี้คงเอือมระอากับ "ทุนนิยมเสรี" หรืออีกชื่อหนึ่งว่า กระแสโลกาภิวัตน์กันไม่น้อยและก็คงเห็นชัดเจนแล้วว่ามีแต่ศาสนาเท่านั้นที่จะช่วยเปลี่ยนให้มนุษย์มีความเป็นผู้เป็นคน(ใจสูง) มากขึ้น ท่ามกลางกระแสสังคมที่มีแต่นายทุนจอมตะกละตะกรามแสวงหากำไรสูงสุดอยู่ทุกแห่ง ดังนั้น จึงเริ่มผ่อนปรนให้ผู้นำศาสนาทำงานได้สะดวกขึ้น
ที่มา : ดร.ปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธินันท์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลhttp://www.siamrath.co.th/Education.asp?ReviewID=89725
http://www.212cafe.com/freewebboard/view.php…
piangdin :-)
President, Thai Alliance for Human Rights http://thai-ahr.org .
President, Thai People's Revolutionary University for Democracy http://thai-ahr.org
No comments:
Post a Comment
Note: Only a member of this blog may post a comment.