ยินดีต้อนรับ

พลเมืองที่รอบรู้เท่าทัน คือ พลังประชาธิปไตยที่แท้จริง
Well-informed citizens are the true democratic forces.

Thursday, April 28, 2016

สรุปหัวใจสำคัญของแนวทางปฏิวัติมดแดงล้มช้าง

หัวใจสำคัญของแนวทางปฏิวัติมดแดงล้มช้าง

 


หนึ่ง การพัฒนาศักยภาพประชาชน คือหัวใจสำคัญที่สุดของกระบวนการปฏิวัติ (ปัจจัยสู่ชัยชนะ) และผลของการปฏิวัติ (ชัยชนะ) ที่ยั่งยืน โดยปัจจัยที่เอื้อให้การพัฒนาและการประสพชัยชนะได้อย่างแท้จริงและรวดเร็ว คือ ความไม่กลัว ความฉลาดเท่าทันเกมเผด็จการ และการใช้ความได้เปรียบทุกรูปแบบในการสร้างความเปลี่ยนแปลง

 

สอง ต้องเน้นการใช้จุดแข็งสู้จุดอ่อนของเผด็จการ กล่าวคือ ต้องใช้ความได้เปรียบเช่น จำนวนอันมหาศาลของประชาชนผู้ถูกกดขี่ ความชอบธรรมของประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง หลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลก สันติวิธีที่จะทำให้อำนาจปืนและอำนาจเถื่อนเสื่อมสมรรถภาพ เครื่องมือสื่อสารทุกชนิดที่ช่วยเผยแพร่ความรู้ ความจริง ข่าวสาร และการประสานงาน ตลอดจนความได้เปรียบทางชัยภูมิ

 

สาม ต้องยืนบนหลักการสากล อันได้แก่ หลักประชาธิปไตยที่แท้จริงและสมบูรณ์ หลักสิทธิมนุษยชน สันติวิธี และความจริง คือสิ่งดีที่ปวงชนปฏิวัติต้องยึดถือและพัฒนาตัวเองให้สอดคล้อง ในขณะที่จะต้องต่อต้าน ขจัด หรือทำลายสิ่งที่ตรงข้ามในทุกมิติที่ทำได้ บนสติและความหยั่งรู้ว่า ปวงชนต้องทำตัวหรือยกระดับคุณภาพของตนให้สอดคล้องกับสิ่งที่เป็นเป้าหมายของการปฏิวัติด้วย (เทียบเคียงได้กับหัวใจของศาสนาพุทธ คือ ทำความดี ละเว้นความชั่ว และทำใจให้ปราศจากกิเลส)

 

สี่ ประชาชนจะต้องเข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้าง (ระบอบ) ที่ครอบงำ เอารัดเอาเปรียบ กดขี่ ข่มเหง และยัดเยียดความทุกข์ให้พวกเขาในทุกมิติ คือ การเมืองการปกครอง การทหาร เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา ศาสนา สาธารณสุข และการต่างประเทศ โดยต้องเข้าใจว่า ตัวบุคคล โครงสร้างองค์กรหรือสถาบันต่าง กลไกและเครื่องมือต่าง ความเชื่อและวิถีปฏิบัติที่ครอบงำ

(วัฒนธรรม) และจิตสำนึกที่ถูกสร้างขึ้นโดยชนชั้นที่ได้เปรียบหรือเอาเปรียบ และจะต้องช่วยกันยกระดับคนรอบข้าง ให้เป็นผู้รู้และเข้าใจอย่างเท่าทันต่อการกดขี่และเอารัดเอาเปรียบเชิงโครงสร้างเหล่านั้น เพื่อเป็นฐานสำหรับการเคลื่อนไหวต่อสู้ในทุกมิติ

 

ห้า ความสำเร็จของการปฏิวัติประชาชนในยุคปัจจุบัน ต้องอยู่บนความพร้อมของปัจจัยด้านต่าง ที่สานสอดกัน คือ มวลชนที่พร้อมทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ อุดมการณ์ร่วมและแนวทางที่เป็นเอกภาพ ขบวนนำที่มีความชอบธรรมและจริงจังต่อระบอบประชาธิปไตย กองทัพที่ต้องรับใช้ประชาชน และมหามิตรประเทศที่พร้อมช่วยเหลืออย่างจริงจัง

 

หก เป้าหมายของการปฏิวัติ เป็นไปตามยุทธศาสตร์รับ ยัน รุก และรุกฆาต ในแต่ละมิติตามภาววิสัยที่เป็นจริง แต่จะต้องมุ่งให้ประชาชนตาสว่างทั้งแผ่นดิน ต่อต้านขัดขืนสิ่งชั่วร้ายในทุกมิติ แล้วไม่ยอมรับให้ผู้ปกครองเถื่อนปกครองอีกต่อไป และเมื่อความพร้อมมาถึง ประชาชนจะยึดอำนาจคืนมา เพื่อจัดการสร้างชาติใหม่บนหลักการในข้อ สาม ข้างต้น (ล้มช้าง สร้างชาติ)

 

เจ็ด การปฏิวัติประชาชนมดแดงล้มช้าง ต้องยึดหลักการใช้พลังธรรมอันมหาศาลขับไล่อธรรม หรือเอาน้ำดีมหาศาลไล่น้ำเสีย เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียอย่างควบคุมไม่ได้และยืดเยื้อเกินไป เช่นการสังหารประชาชนมือเปล่าอย่างโหดร้าย หรือสงครามกลางเมือง หรือการแทรกแซงของต่างประเทศ บนความเสียหายของชาติอันใหญ่หลวง

 

แปด การปฏิวัติประชาชนมดแดงล้มช้าง ถือเป็นการแก้ปัญหาในบ้านของคนไทยทุกคน ที่เป็นพี่น้องร่วมชาติ ไม่ใช่ศัตรูต่างด้าวที่ต้องเข่นฆ่ากันให้อาสัญ ดังนั้น เป้าหมายจึงอยู่ที่การสร้างสภาวะที่ทำให้คนที่ทำผิดได้เกิดสำนึกแล้วกลับตัว เพื่อก้าวร่วมกันต่อไป ดังนั้น การคิดสร้างสรรค์ การปรับจิตสำนึก การให้ความเป็นธรรม การเคารพหลักสิทธิมนุษยชน และการใช้อารยวิธี จึงเป็นสิ่งที่ขบวนปฏิวัติต้องยึดถือด้วยความรับผิดชอบต่อชะตากรรมของบ้านเกิดเมืองนอนร่วมกันของประชาชนทุกคน

 

เก้า การลุกขึ้นประกาศจุดยืนไม่ยอมรับการปกครองอันมิชอบของเครือข่ายเผด็จการทรราชย์โดยคนไทยทั่วประเทศในทุกจังหวัด คือวันดีเดย์ของการรุกฆาตต่อระบอบเผด็จการ และวันนั้น จะถูกกำหนดด้วยความพร้อมของทั้งขบวนในข้อห้า และภาววิสัยที่เอื้อให้เกิดความสำเร็จที่ยั่งยืนบนความเสียหายที่น้อยที่สุด

 

สิบ ชัยชนะที่แท้จริงที่เกิดขึ้นได้ทุกวัน คือการเปลี่ยนให้ประชาชนเป็นผู้รู้และเข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้าง แล้วยกตนขึ้นเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ด้วยวิถีปฏิวัติในแต่ละวันที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเมื่อประชาชนคือผู้ที่ทำตัวสอดคล้องกับหลักการการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนได้จนเป็นนิสัยประจำชาติแล้ว ความสำเร็จที่ยั่งยืนจึงจะได้รับการประกันในที่สุด

 

ลิ้งค์สำหรับดาวน์โหลดเพื่อเผยแพร่ pdf: http://tinyurl.com/jpsbcvn

ดร. เพียงดิน รักไทย

25 กุมภาพันธ์ 2559 (สรุปและพัฒนาจากความคิดเดิม เมื่อปี 2554)

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.