วันนี้ พี่น้องที่สนับสนุนการยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
โดยร่วมกันสร้างความปั่นป่วนอย่างยืดเยื้อยาวนาน
เปิดทางให้ยามไปบริหารประเทศแทนผู้จัดการ
จะสำนึกกันหรือยังหนอ?
ชี้หนี้ครัวเรือน รวมกู้นอกระบบ พุ่งเกิน100%เข้าขั้น"ล้มละลาย"
ซิตี้แบงก์ชี้หนี้ครัวเรือนไทยน่าห่วง 7 ปี โตเฉลี่ยปีละ 15% หวั่นพุ่งแตะ100% ของจีดีพี เสี่ยงชาวบ้านล้มละลาย ไร้ฟูกรองรับ เหตุอัตราการออมลดฮวบเหลือ 1.2% จาก 10 ปีก่อนสูง 20% แนะรัฐเร่งแก้ปัญหาเพิ่มเงินออม
กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซิตี้แบงก์ เปิดเผยว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยเติบโตขึ้นอย่างมากในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา (2551-2557) จากระดับ 55.6% ต่อจีดีพี เพิ่มเป็น 85% ต่อจีดีพี (หรือประมาณ 12 ล้านล้านบาท) ซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำ การกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐ และการลดเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อและการแข่งขันด้านสินเชื่อของสถาบันการเงิน ถือเป็นขั้นวิกฤตที่กระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคได้ และที่สำคัญในระยะ 2-3 ปีข้างหน้ายังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 89% และหากยังไม่มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ระดับหนี้ครัวเรือนไทยมีโอกาสทะลุระดับ 100% ได้
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ตามมาในขณะนี้คือ อัตราการผิดนัดชำระหนี้เริ่มเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มสินเชื่อบุคคลที่น่าเป็นห่วงเพิ่มจากระดับ 2.7% ในปี 2554 เป็น 4.7% ในปี 2557 ขณะที่อัตราผิดนัดชำระหนี้ในกลุ่มบัตรเครดิต สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบ้านเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่อัตราการออมกลับปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
"หนี้ครัวเรือนไทยเติบโตเฉลี่ยปีละ 15% มาตั้งแต่ปี 2553 ยกตัวอย่างสินเชื่อบุคคลโตขึ้นมากกว่า 18-19% สินเชื่อเช่าซื้อโตขึ้นกว่า 30% ทำให้ปริมาณหนี้ก่อตัวเพิ่มขึ้นมาก แต่อัตราการเติบโตในภาคการออมกลับลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2545-2550 อัตราการออมเฉลี่ยของครัวเรือนไทยอยู่ที่ระดับ 20.2% แต่ในช่วงปี 2551-2553 กลับลดลงมาอยู่ที่ 4.6% ต่อปี และข้อมูลล่าสุดในปี 2555 เหลือแค่ 1.2% ต่อปี นับเป็นสัญญาณเตือนให้ทุกคนและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกัน"
นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานสถาบันคีนันแห่งเอเซียกล่าวว่า หากนับรวมหนี้นอกระบบเชื่อว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยน่าจะอยู่ในระดับที่เกิน 100% ซึ่งถือเป็นระดับล้มละลายของหนี้ครัวเรือน และจะทำให้เกิดการล้มละลายในภาคประชาชน กลายเป็นปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจในอนาคต
ทั้งนี้ มูลนิธิซิตี้ร่วมกับสถาบันคีนันฯทำการวิจัยเชิงลึกเรื่อง "รากปัญหาหนี้ครัวเรือน" เป็นโครงการระยะ 3 ปี (2557-2559) ซึ่งในปีแรกเป็นส่วนของการหาสาเหตุของปัญหา พบว่ามีสาเหตุ 3 ประการ ดังนี้ ระดับความรู้ด้านการเงิน ทัศนคติต่อการบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคล และความไม่สมดุลของการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และกลุ่มที่มีความน่าเป็นห่วงมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มนักศึกษา กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มแรงงานรายได้ต่ำ (10,000 บาทต่อเดือน)
ส่วนในปีที่ 2 จะเสนอบทวิจัยแก่หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง และร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างจริงจังด้วยการให้ความรู้ทางการเงินที่ถูกต้องกับประชาชนในทุกกลุ่ม ตั้งแต่ระดับการศึกษา วัยทำงาน แม่บ้าน เป็นต้น ในโครงการ "คนไทยก้าวไกลใส่ใจการเงิน"
"การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว และรูปแบบการใช้ชีวิตที่ผู้คนใช้สอยเกินตัวกว่ารายได้ที่หามาได้ในประเทศขณะนี้ จะทำให้เกิดภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว ดังนั้น สิ่งสำคัญคือต้องเริ่มควบคุมการเป็นหนี้ และส่งเสริมการออมให้เกิดขึ้น ซึ่งอาจจำเป็นต้องใช้โครงการภาคบังคับเพื่อให้เกิดการออมจะดีกว่าภาคสมัครใจ เช่น มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่อาจจะไม่เพียงพอ" นายปิยะบุตรกล่าว
No comments:
Post a Comment
Note: Only a member of this blog may post a comment.