ยินดีต้อนรับ

พลเมืองที่รอบรู้เท่าทัน คือ พลังประชาธิปไตยที่แท้จริง
Well-informed citizens are the true democratic forces.

Wednesday, February 1, 2012

1911 การปฎิวัติของ ดร. ซุน ยัด เซ็น



1911 การปฎิวัติของ ดร. ซุน ยัด เซ็น

ภาพยนตร์ที่ต้องดู ซุน ยัด เซ็น และคณะก่อการปฎิวัติเริ่มทำการจากเมืองนอก ด้วยกลไกและเงื่อนไขการต่อสุ้ที่ไม่ต่างจากปัจจุบันมากมายนัก  พวกเขาชนะได้อย่างไร?  เราจะเอาอะไรมาเป็นบทเรียนได้บ้าง?

ตอนที่หนึ่ง http://www.dailymotion.com/video/xo8ow4_1911-yyy-y-yyyy-past-1_shortfilms#rel-page-under-4

ตอนที่สอง http://www.dailymotion.com/video/xo8xmj_1911-yyy-y-yyyy-past-2_shortfilms#rel-page-under-3

ตอนที่สาม http://www.dailymotion.com/video/xo92nu_1911-yyy-y-yyyy-past-3_shortfilms#rel-page-under-2

ตอนที่สี่ http://www.dailymotion.com/video/xo99y3_1911-yyy-y-yyyy-past-4_shortfilms#rel-page-under-1


ประวัติของนักปฎิวัติตัวจริง ซุน ยัด เซ็น
ขอบคุณการค้นคว้าของเมเนเจอร์


บุรุษผู้มีคำว่า "ปฏิวัติ" อยู่ในสายเลือด (1)
9 กันยายน 2547 08:10 น.
       หากบอกคนจีนว่ามาถึง 'หนานจิง' แล้ว ไม่ได้ไปเยือน สุสานซุนจงซาน (中山陵) แล้วละก็คงโดนหาว่ามาไม่ถึง หนานจิง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสำหรับผู้ที่ยังไม่รู้จัก 'ซุนจงซาน' สถานที่แห่งนี้คงจะไม่น่าดึงดูดใจเท่าไรนัก
        ..........................
        ซุนเหวิน (孙文) ซุนอี้เซียน (孙逸仙) ซุนเต๋อหมิง (孙德明) ซุนตี้เซี่ยง (孙帝象) จงซานเฉียว (中山樵) - - - ทั้งหมดนี้เป็นชื่อของบุคคลเดียวกันที่คนไทยรู้จักกันในนามของ ดร.ซุนยัดเซ็น
       ซุนยัดเซ็น (ชื่อในจีนกลางคือ "ซุนจงซาน" ส่วนชื่อในวัยเด็กคือ "ซุนเหวิน") ผู้ได้ชื่อว่าบิดาว่าเป็นบิดาแห่งประชาธิปไตยจีน เกิดเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ.1866 ในครอบครัวชาวนาที่ไม่ได้ร่ำรวยอะไรนักใน หมู่บ้านชุ่ยเฮิง (翠亨) อำเภอเซียงซาน มณฑลกวางตุ้ง ซุนยัดเซ็น เริ่มใช้แรงงานมาตั้งแต่อายุ 6 ขวบ จนเมื่อ 10 ขวบจึงมีโอกาสได้เรียนหนังสือในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง
    
        การต้องทำไร่นา ช่วยครอบครัวตั้งแต่เล็ก เป็นเหตุให้ ซุนยัดเซ็น นั้นเข้าใจความลำบากยากเข็ญของชาวนาเป็นอย่างดี
    
        ทั้งนี้ตั้งแต่ยังเด็ก ซุนยัดเซ็น ที่เกิดหลังกบฎไท่ผิง** ถูกปราบเพียง 2 ปี มีความสนใจในเรื่องราวของบ้านเมืองมาก โดยเฉพาะในตัวของ หงซิ่วฉวน (洪秀全) ผู้นำของ กบฎไท่ผิง กบฎชาวนาที่ได้ชื่อว่ายิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์จีน โดยซุนเหวินนั้นยกให้ หงซิ่วฉวน เป็น "วีรบุรุษผู้ต่อต้านชิงคนที่ 1" และ ยกตัวเองให้เป็น "หงซิ่วฉวน คนที่ 2"
    
        ในปี ค.ศ.1879 เมื่ออายุได้ 13 ย่าง 14 ปีซุนยัดเซ็น มีโอกาสตามมารดาไปหา ซุนเหมย (孙眉) พี่ชาย ที่เมืองโฮโนลูลู บนเกาะฮาวาย และมีโอกาสได้เรียนหนังสือในโรงเรียนฝรั่ง นับได้ว่าซุนยัดเซ็นเป็นคนจีนกลุ่มแรกๆ ที่มีโอกาสไปศึกษาต่อยังตะวันตก และรับเอาอิทธิพลจากวัฒนธรรมของชาวตะวันตกมาอย่างลึกซึ้ง ซึ่งส่งผลมายังความไม่เชื่อถือนักต่อลัทธิขงจื๊อแบบคนจีนทั่วไป
       ความใกล้ชิดต่อคริสตศาสนา และห่างไกลจากลัทธิขงจื๊อซึ่งครอบครัวยึดถือของซุนยัดเซ็น ทำให้พี่ชายกังวลจนถึงขั้นแจ้งข่าวให้ทางบ้านทราบ และส่งตัวน้องชายกลับบ้าน
    
       เมื่อเดินทางจากเมืองศิวิไลซ์กลับมาถึงบ้าน เมื่อ ค.ศ.1883 ซุนยัดเซ็น ก็ประกอบวีรกรรมห่ามขึ้นอย่างหนึ่งคือไปหักแขนเทวรูปไม้ที่ชาวบ้านว่าศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้าน ขณะที่ซุนเหวินเห็นว่าเทวรูปไม้ เป็นเพียงวัตถุไร้สาระที่ชาวบ้านงมงายอย่างไม่ลืมหูลืมตา เมื่อเกิดเป็นเรื่องวุ่นวาย เนื่องจากชาวบ้านโกรธแค้นอย่างมาก บิดาของซุนยัดเซ็นจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการส่งตัวลูกชายไปศึกษาต่อที่ฮ่องกง
    
       ที่ฮ่องกง ซุนยัดเซ็น เข้าศึกษาต่อในควีนสคอลเลจ โดยในเวลาต่อมาก็เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ แต่ซุนยัดเซ็นก็ยังยอมแต่งงานกับเจ้าสาวที่ทางบ้านเลือกให้ โดยในปี ค.ศ.1892 ซุนยัดเซ็น ก็จบการศึกษาจากวิทยาลัยการแพทย์ตะวันตกในฮ่องกง ด้วยคะแนนจากการสอบไล่เป็นอันดับหนึ่ง และกลายเป็น ดร.ซุนยัดเซ็น
    
       หลังเรียนจบ ดร.ซุน ก็เปิดคลีนิกแพทย์แผนตะวันตกขึ้นที่มาเก๊า และ กวางเจา (กว่างโจว) โดยในช่วงเวลานี้เองเขาก็เริ่มต้นชีวิตของการเคลื่อนไหวทางการเมือง
    
       ในปี ค.ศ.1894 ระหว่างการขึ้นไปยังปักกิ่งเมืองหลวง ดร.ซุน ได้ส่งจดหมายถึง หลี่หงจาง (李鸿章) ขุนนางคนสำคัญของราชสำนักชิงผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่เทียนจินเพื่อหารือเรื่องบ้านเมือง โดย ดร.ซุน ต้องการเสนอแนวทางการพัฒนาจีนให้กับหลี่หงจาง แต่กลับถูกปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย
    
       เมื่อถูกปฏิเสธ ดร.ซุน จึงตระหนักดีว่า การเปลี่ยนแปลงจีนให้หลุดจากการปกครองของราชวงศ์ชิง นั้นมิสามารถทำได้ด้วยวิธีอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่จำเป็นต้องกระทำการแบบ "พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน" อันหมายถึง "การใช้กำลังปฏิวัติ" ดังนั้น ในฤดูหนาว ปีเดียวกัน ดร.ซุน จึงเดินทางกลับไปยังฮาวาย รวบรวมชาวจีนโพ้นทะเลผู้รักชาติขึ้น 112 คน และตั้งขึ้นเป็น "สมาคมซิงจงฮุ่ย (兴中会)" ที่มีความหมายว่า "ฟื้นชีวิตประเทศจีน" ขึ้น ทั้งนี้เงินทุนสนับสนุนสมาคมดังกล่าวก็มาจาก ซุนเหมย นักธุรกิจชาวจีนผู้ร่ำรวย พี่ชายของ ดร.ซุน นั่นเอง
       อาจนับได้ว่า ซิงจงฮุ่ย เป็นหลักไมล์แรกๆ ของ นายแพทย์ผู้นี้ ในการปฏิวัติอย่างจริงๆ จังๆ เนื่องจากสมาชิกของสมาคมนี้ปฏิญาณตนว่า "ต้องขับแมนจู กอบกู้การปกครองของชาวจีนด้วยการสถาปนาสาธารณรัฐขึ้น" และในปีถัดมา (ค.ศ.1895) ดร.ซุน ก็กลับมาสร้างสาขาของสมาคมซิงจงฮุ่ยขึ้นที่ฮ่องกง
    
       ด้วยความรวดเร็ว ซิงจงฮุ่ย วางแผนการปฏิวัติในทันที และกำหนดเอาวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ.1895 เป็นวันลงมือ โดยแผนการดังกล่าวนั้น ใช้กำลังคน 3,000 คน เพื่อยึดเมืองกวางเจา เมืองเอกของมณฑลกวางตุ้ง เพื่อใช้เป็นฐานในการขยายการปฏิวัติต่อไป โดยในการปฏิวัติดังกล่าว ลู่เฮ่าตง เพื่อนสนิทตั้งแต่ยังเด็กผู้เชื่อมั่นในอุดมการณ์ปฏิวัติของ ดร.ซุน ได้ออกแบบ ธง "ฟ้าสีน้ำเงินกับดวงตะวันสีขาว" ไว้ใช้ด้วย (ในเวลาต่อมาธงดังกล่าวได้กลายเป็นธงชาติของสาธารณรัฐจีน)
    
       อย่างไรก็ตาม การลงมือปฏิวัติครั้งแรกของ ดร.ซุน กลับล้มเหลวลงอย่างไม่เป็นท่า เนื่องจากมีคนทรยศ นำข่าวไปบอกกับเจ้าหน้าที่ของราชสำนักชิงก่อน ซึ่งก็ทำให้ผู้ร่วมปฏิวัติถูกประหารชีวิตไป 47 คน รวมถึง ลู่เฮ่าตง ด้วย ส่วนดร.ซุน ซึ่งไหวตัวทันก่อน จึงหนีประกาศจับของราชสำนักชิงไปหลบไปเกาะฮ่องกง เพื่อผ่านไปยังประเทศญี่ปุ่น
    
       หลังจากตั้ง สาขาซิงจงฮุ่ย ขึ้นที่ญี่ปุ่น เดือนมิถุนายน ค.ศ.1896 ดร.ซุน ก็เดินทางต่อไปยังสหรัฐอเมริกา และอังกฤษ เพื่อศึกษาแนวคิดทางการเมืองของประเทศต่างๆ ในสหรัฐฯ และ ยุโรป โดยได้รับความช่วยเหลือจาก ดร.เจมส์ แคนต์ลี (Dr. James CantLie) อาจารย์ชาวอังกฤษที่เคยสอนเขา ณ วิทยาลัยการแพทย์ในฮ่องกง และได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากพี่ชายคนเดิม
    
       วันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ.1896 ระหว่างการเดินไปตามท้องถนนในกรุงลอนดอน ดร.ซุนก็ถูกลักพาตัว เข้าไปยังสถานทูตจีนประจำกรุงลอนดอน เพื่อส่งตัวลงเรือจากลอนดอนกลับไปยังจีนเพื่อ 'ตัดหัว' เนื่องจากราชสำนักชิงนั้นตั้งค่าหัวของเขาไว้ 7,000 ปอนด์ ในฐานะกบฎ หรือไม่ถ้าการลอบพาตัว ดร.ซุน กลับไปจีนไม่สำเร็จก็จะสังหารเสียที่ สถานทูตจีนที่ลอนดอนนั้นเอง
    
       อย่างไรก็ตามด้วยความช่วยเหลือจาก พนักงาน ชาวอังกฤษในสถานทูต ที่ส่งข่าวไปให้ ดร.แคนต์ลี อาจารย์แพทย์ผู้ชิดเชื้อกับ ดร.ซุน ดร.แคนต์ลีก็ทำการช่วยเหลือศิษย์ทุกวิถีทาง โดยทางหนึ่งติดต่อไปยัง สก๊อตแลนด์ยาร์ด เมื่อไม่ได้ผลจึงประโคมข่าวผ่านทางหนังสือพิมพ์เดอะ โกลบ ที่ลงพาดหัวว่า "นักปฏิวัติจีนถูกลักพาตัวในลอนดอน!"
       ข่าวดังกล่าวเป็นกระแสในหมู่คนอังกฤษ และกดดันให้รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษต้องติดต่อไปยังสถานทูตจีนเพื่อเจรจา จนสุดท้ายสถานทูตจีนในลอนดอนต้องปล่อยตัว ดร.ซุน ออกมาหลังจากกักตัวไว้นาน 12 วัน ซึ่งในตอนหลัง ดร.ซุนได้นำเหตุการณ์ตอนนี้มาเขียนโดยละเอียดโดยใช้ชื่อว่า Kidnapped in London
    
       "วันนั้นผมวางแผนว่าจะไปหา ดร.แคนต์ลี หลังจากลงรถประจำทางที่จัตุรัสอ๊อกซ์ฟอร์ด ผมก็เดินต่อไปยังย่านพอร์ตแลนด์ เป็นเส้นทางปกติที่ผมเดินอยู่ ประมาณ 10 โมงครึ่งหรือ 11 โมงได้ ผมก็ถึงย่านพอร์ตแลนด์ แล้วก็พบ 'เติ้ง' - - - ก่อนหน้านั้นผมกับเขา (เติ้ง ในขณะนั้นมีตำแหน่ง คือ ล่ามของสถานทูตจีน) ไม่รู้จักกันมาก่อน ผมเพิ่งเจอเขาโดยบังเอิญบนถนนนั่นแหละ
       "เขาเดินเข้ามาข้างผมแล้วก็ถามว่าผมคือ คนญี่ปุ่นหรือคนจีน ผมจึงตอบไปว่าผมเป็นคนจีน เขาก็ถามต่อว่าผมมาจากไหน ผมก็ตอบไปว่า ผมเป็นคนกวางตุ้ง เราก็ถามชื่อแซ่กันและกัน ผมบอกว่าผมแซ่ซุน ส่วนเขาบอกว่าเขาแซ่เติ้ง .... เราเดินไปคุยไปช้าๆ พอใกล้ย่านสถานทูตสักพักก็มีคนจีนอีกคนออกมา ..." ดร.ซุนยัดเซ็น เล่าให้นักข่าวอังกฤษฟังหลังจากถูกปล่อยตัวออกมา
    
       หลังจากรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ที่เกือบถึงแก่ชีวิต ดร.ซุน ก็ขลุกตัวอยู่ในห้องสมุดของบริติชมิวเซียมเป็นเวลาถึง 9 เดือนเศษ จากนั้นถึงเดินทางมายังแผ่นดินยุโรป เพื่อศึกษาถึงแนวทางการเมืองของสังคมโลกในขณะนั้น โดยเฉพาะแนวโน้มในการปฏิรูป ปฏิวัติ รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศต่างๆ จนในที่สุด ปี ค.ศ.1897 เขาจึงพัฒนาแนวคิดที่ว่าด้วยการปฏิวัติสังคม อันต่อเนื่องกันกับการปฏิวัติชาติกับประชาธิปไตยที่คิดไว้ก่อน
    
       แนวคิดดังกล่าวคือพื้นฐานของ ลัทธิไตรราษฎร์ (三民主义) อันประกอบด้วย ชาตินิยม (民族), ประชาธิปไตย (民权) และ สังคมนิยม (民生) แนวคิดที่ต่อมาได้กลายเป็นหลักการพื้นฐานที่ยึดถือในการปฏิวัติของจีนตลอดระยะเวลาหลายสิบปี
    
       หมายเหตุ :
       *ปัจจุบันอำเภอเซียงซาน กลายเป็น เมืองจงซาน (中山市) โดยชื่อ อำเภอเซียงซาน นั้นถูกเปลี่ยนมาเป็น อำเภอจงซาน ตั้งแต่ปี ค.ศ.1925 เพื่อไว้อาลัยแด่ ดร.ซุนยัดเซ็นที่เสียชีวิตไปในปีนั้น
       **กบฎไท่ผิง (太平天国; ค.ศ.1850-1864) หรือ "เมืองแมนแดนมหาสันติ" เป็นกบฎชาวนาที่นำโดย ชาวนาที่ชื่อว่า หงซิ่วฉวน ผู้นับถือศาสนาคริสต์ และมีความต้องการล้มล้างราชวงศ์ชิงที่กดขี่ชาวนา เพื่อสร้างอาณาจักรแห่งสันติสุขขึ้น ซึ่งในเวลาต่อมา กบฎไท่ผิงก็ยึดอำนาจได้จริงๆ ที่ เมืองหนานจิง ในปี ค.ศ.1853 โดยเปลี่ยนชื่อหนานจิงเป็น เมืองหลวงสวรรค์ (เทียนจิง:天京) แต่สุดท้ายในปี ค.ศ.1864 ก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับกองทัพของฮ่องเต้ชิง (อ่านเพิ่มเติม : หนังสือประวัติศาสตร์จีน โดย ทวีป วรดิลก สำนักพิมพ์สุขภาพใจ พ.ศ.2542 บทที่ 20 หน้า 584-606)
    
       ประวัติของ ดร.ซุนยัดเซ็น เรียบเรียงมาจาก :
       1.หนังสือ ประวัติศาสตร์จีนยุคใกล้และยุคปัจจุบัน (中国近现代历史概要) โดย ตู้จื้อจุน ของมหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง บทที่ 9-11
       2.หนังสือประวัติศาสตร์จีน โดย ทวีป วรดิลก สำนักพิมพ์สุขภาพใจ พ.ศ.2542 บทที่ 20 หน้าที่ 739-771
       3.หนังสือที่สุดของเมืองจีน โดย สุขสันต์ วิเวกเมธากร : สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, 2543 หน้าที่ 83-87
       4.หนังสือ 孙中山在说 (2004) โดย ซุนจงซาน สำนักพิมพ์ตงฟัง
    
       ทั้งนี้หนังสือทั้ง 4 เล่มให้ข้อมูลบางประการเกี่ยวกับ ดร.ซุนยัดเซ็น คลาดเคลื่อนกัน ดังนั้นข้อมูลในบทความชิ้นนี้ผู้เขียนจึงอ้างอิงจาก เล่มที่สี่ เป็นหลัก และเสริมข้อมูลเพิ่มเติมจากหนังสืออีกสามเล่ม


พิมพ์จาก http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9470000047972
เวลา 2 กุมภาพันธ์ 2555 04:46 น.
บุรุษผู้มีคำว่า "ปฏิวัติ" อยู่ในสายเลือด (2)
16 กันยายน 2547 08:07 น.
       "ระบบของจีน รวมถึงรัฐบาลจีน ในปัจจุบันไม่สามารถปฏิรูปอะไรได้อีกแล้ว และก็ไม่อาจทำการปฏิวัติอะไรได้ด้วย ทำได้ก็แต่เพียงโค่นล้ม" - ดร.ซุนยัดเซ็น ค.ศ.1897
    
        ระหว่างที่ ดร.ซุน เคลื่อนไหวเพื่อสร้างกระแสการปฏิวัติจีนนั้น ในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศจีนก็มีความเคลื่อนไหวจากคนกลุ่มต่างๆ ด้วยเช่นกัน เพียงแต่กลุ่มอื่นนั้นเป็นเป็นเพียงกลุ่มที่กระจุกแต่เพียงในพื้นที่นั้นๆ มิได้มีการคิดการใหญ่ซึ่งครอบคลุมไปทั่วประเทศ และที่สำคัญไม่มีหลักการพื้นฐานของการปฏิวัติที่แน่ชัด ดังเช่น ลัทธิไตรราษฎร์ ของ ดร.ซุน
    
        จนในเดือน สิงหาคม ปี ค.ศ.1905 ก็มีการประกาศรวมกลุ่มผู้สนับสนุนการปฏิวัติจีนที่ชื่อ สมาคมพันธมิตรปฏิวัติจีน (จงกั๋วถงเหมิงฮุ่ย:中国同盟会) ขึ้นอย่างเป็นทางการ โดย 'ถงเหมิงฮุ่ย' นี้มีจุดมุ่งหมายในการปฏิวัติล้มราชวงศ์ชิง โดยยึดหลักการของลัทธิไตรราษฎร์ โดยศูนย์กลางของถงเหมิงฮุ่ยนั้น อยู่ที่เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
    
        ช่วงก่อนหน้าที่ 'ถงเหมิงฮุ่ย' จะเกิดขึ้นนั้น ทางฝั่งราชสำนักจีนที่ประกาศสงครามกับญี่ปุ่น-ชาติตะวันตก และปล่อยให้กบฎนักมวยออกมาสร้างความวุ่นวายในปักกิ่ง กำลังตกอยู่ในสถานะแพ้สงครามให้กับกองทัพมหาอำนาจพันธมิตร 8 ประเทศ จนต้องมีการลงนามในสนธิสัญญาที่เรียกว่า Boxer Protocol (辛丑条约; ลงนามในวันที่ 7 กันยายน ค.ศ.1901) เพื่อยืนยันว่า จีนยินยอมชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมหาศาล ก็กำลังพยายามทำการปฏิรูปทางการปกครองประเทศ การทหาร อยู่เช่นกัน โดยมีการส่งคนไปศึกษายังต่างประเทศเพื่อเตรียมประกาศรัฐธรรมนูญ (ระบบการสอบจอหงวนก็สิ้นสุดลงในช่วงนี้ และ การสะสมกำลังทหารเพื่อสร้างเป็นกองทัพของหยวนซื่อไข่ก็เกิดขึ้นในช่วงนี้เช่นกัน)
    
        อย่างไรก็ตาม ดังเช่น ที่ ดร.ซุนกล่าวไว้ถึง ความสิ้นหวังต่อระบอบกษัตริย์ การปฏิรูปที่ราชสำนักชิงพยายามทำนั้น ในสายตาของประชาชนกลับไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และยิ่งเป็นการเหยียบย่ำซ้ำเติมให้ทุกข์ยากยิ่งขึ้นไปอีก
    
        จากกระแสความไม่พอใจของประชาชนต่อราชสำนักชิงที่พุ่งขึ้นสูง ส่งผลให้ภายในระยะเวลาแค่หนึ่งปี ถงเหมิงฮุ่ย รวบรวมสมาชิกได้มากกว่าหมื่นคน มีการเปิดหนังสือพิมพ์เพื่อ ปลุกระดม และเผยแพร่ ลัทธิไตรราษฎร์ และที่สำคัญพยายามลงมือกระทำการปฏิวัติต่อเนื่อง
    
        นับแต่ปี ค.ศ.1907 ถงเหมิงฮุ่ย ทำการเคลื่อนไหวเพื่อปฏิวัติในพื้นที่ภาคใต้ของจีนสิบกว่าครั้ง ก่อนจะสำเร็จที่สุดในวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ.1911 ที่ อู่ชาง มณฑลหูเป่ย
    
        การปฏิวัติครั้งประวัติศาสตร์ เริ่มกระทำการอย่างเร่งด่วนในคืนวันที่ 10 ตุลาคม โดย ทหารสมาชิกพรรคปฏิวัติในกองทัพใหม่ที่ประจำการอยู่ภายในเมืองอู่ชางซึ่งนำโดยผู้บังคับการที่ชื่อว่า หลีหยวนหง (黎元洪) แต่ปราศจากผู้นำของ 'ถงเหมิงฮุ่ย' คอยสั่งการแม้แต่คนเดียว เนื่องจากแผนปฏิวัติรั่วไหลไปเข้าหูทางการเข้า
    
        เหตุการณ์ในครั้งนั้นเรียกกันว่า การก่อการอู่ชาง (武昌起义) หรือเรียกกันง่ายๆ ว่า สองสิบ (双十) เนื่องจากเกิดขึ้นในวันที่ 10 เดือน 10 (ปัจจุบันชาวไต้หวันยังถือเอาวันนี้เป็นวันชาติอยู่ ขณะที่จีนแผ่นดินใหญ่ถือเอาวันที่ 1 ตุลาคม เป็นวันชาติ) ส่วนชื่อทางการของการปฏิวัตินั้นเรียกว่า การปฏิวัติซินไฮ่ (辛亥革命) เนื่องจากตามปฏิทินจันทรคตินั้นเป็น ปี ค.ศ.1911 ชาวจีนเรียกว่าปีซินไฮ่
    
        ประกายไฟแห่งความสำเร็จของการก่อการที่อู่ชาง ปลุกให้เกิดการปฏิวัติทั่วประเทศจีน โดยในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1911 มีถึง 14 มณฑล จากทั้งหมด 24 มณฑลของจีนที่ประกาศปลดปล่อยตัวเองออกจากการปกครองของรัฐบาลชิงที่ปักกิ่ง
    
        การปฏิวัติซินไฮ่นับว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สองพันปีที่จีนหลุดพ้นออกจากระบอบการปกครองของกษัตริย์ และ ก้าวเท้าเข้าสู่เส้นทางของการปกครองในระบอบสาธารณรัฐ โดยในวันคริสต์มาสของปี ค.ศ.1911 ดร.ซุน ก็กลับมาถึงเซี่ยงไฮ้จากต่างประเทศ และจากมติของตัวแทนสมาชิกที่ร่วมปฏิวัติจากทั่วประเทศจีนก็เลือกเอา ดร.ซุนยัดเซ็นเป็น ประธานาธิบดีชั่วคราวของ สาธารณรัฐจีน (中华民国) โดยถือเอาวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1912 เป็นปีแรกของสาธารณรัฐ และจัดตั้งรัฐบาลขึ้นที่ เมืองหนานจิง
    
        ทั้งนี้เมื่อการปฏิวัติสำเร็จ ดร.ซุน ได้กล่าวไว้ประโยคหนึ่งว่า "ผู้ใดที่กล้าขุดระบอบกษัตริย์ขึ้นมา (ในจีน) คนทั่วแผ่นดินจะร่วมกันลุกขึ้นคัดค้าน"
    
        จากความพยายามอยู่หลายสิบปี แม้การปฏิวัติจะสำเร็จลงในที่สุด แต่รัฐบาลชั่วคราวที่หนานจิง ที่นำโดย ดร.ซุน ก็ประสบปัญหาที่รุมเร้า อย่างเช่น ภาวะการคลังของจีนที่ขาดดุลเรื้อรังมาตั้งแต่สมัยปกครองโดยราชวงศ์ชิง โดยเฉพาะการต้องเสียค่าปฏิกรรมสงครามให้กับต่างชาติตามสนธิสัญญาที่เรียกว่า Boxer Protocol, โครงสร้างในการปกครองที่ยังไม่ลงตัว, ฮ่องเต้จีนองค์สุดท้ายที่คงใช้ชีวิตอยู่ในพระราชวังต้องห้าม และที่จุดอ่อนที่สำคัญมากสำหรับรัฐบาลๆ หนึ่งคือ การขาดกำลังทหาร!
    
        หลังสิ้นยุคของซูสีไทเฮา หยวนซื่อไข่ หรือ หยวนซื่อข่าย (袁世凯) ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น "บิดาแห่งลัทธิขุนศึก" ก็ขึ้นมากุมกองกำลังทหารทั้งหมดของภาคเหนือ และในเวลาต่อมากดดันให้ ดร.ซุน ต้องยอมยกตำแหน่งประธานาธิบดีให้ โดยหลังจากลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีชั่วคราว ดร.ซุน หันไปทุ่มเทให้กับการศึกษาเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจจีนแทน
    
        หลังจากการก่อการที่อู่ชาง ได้ไม่กี่เดือน อำนาจในการปกครองที่ควรจะเป็นของประชาชนจีนทั้งมวล ก็กลับมารวมกันอยู่ในมือคนเพียงคนเดียวที่ชื่อ หยวนซื่อไข่ อีกครั้ง ซึ่งก็เป็นดังคาด หยวน ไม่ยอมละทิ้งระบอบกษัตริย์โดยพยายามตั้งตัวเป็น "ฮ่องเต้" แต่สุดท้ายฮ่องเต้หยวนซื่อไข่ก็ไปไม่รอดตามคำสาปแช่งที่ ดร.ซุน เคยกล่าวไว้ก่อนหน้า
    
        ค.ศ.1916 เมื่อ หยวนซื่อไข่ เสียชีวิตลงด้วยโลหิตเป็นพิษ ประเทศจีนก็ย่างเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายที่เรียกว่า "ยุคขุนศึกภาคเหนือ (北洋军阀时期; 1912-1928)" อย่างเต็มตัว
    
        นับจากเริ่มก่อตั้ง สมาคมซิงจงฮุ่ย ในปี ค.ศ.1894 ภารกิจในการปฏิวัติที่ดำเนินมานานกว่า 20 ปี ที่ควรจะเสร็จสิ้นเพื่อนำประเทศจีนเข้าสู่ยุคแห่งการสร้างชาติขึ้นใหม่ของ ดร.ซุนยัดเซ็น สุดท้ายก็ยังไม่สัมฤทธิ์ผล ซ้ำร้ายประเทศจีนยังตกอยู่ในสภาวะที่ต่างชาติต้องการหาตัวแทนเป็นขุนศึก เพื่อแบ่งจีนออกเป็นส่วนๆ เพื่อหาผลประโยชน์
    
        หลังความล้มเหลวดังกล่าว ส่งให้กำลังใจของนักปฏิวัติผู้นี้แทบไม่มีเหลือ จนครั้งหนึ่งถึงกับรำพึงกับคนสนิทว่า "บางทียุคสาธารณรัฐ อาจจะย่ำแย่กว่ายุคที่จีนปกครองด้วยระบอบกษัตริย์เสียด้วยซ้ำ"
    
        อย่างไรก็ตามด้วยความมุ่งมั่นในการประกอบภารกิจที่ยังไม่สำเร็จ ดร.ซุน ก็ยังพยายามโค่นเหล่าขุนศึกภาคเหนือต่อไป โดยต่อมาหลังจากเหตุการณ์ 4 พฤษภาคม ค.ศ.1919 (五四运动) ก็ร่วมก่อตั้ง พรรคก๊กมินตั๋ง (จงกั๋วกั๋วหมินตั่ง:中国国民党) ขึ้น ซึ่งต่อมามีความร่วมมือกับ พรรคคอมมิวนิสต์จีน (ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ.1921)
    
        แต่สุดท้ายแล้ว ดร.ซุน ก็อยู่ไม่ทันเห็นผลจากความพยายามชั่วชีวิตของตน เนื่องจาก เสียชีวิตด้วยสาเหตุจากโรงมะเร็งตับที่ปักกิ่งเมื่อวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ.1925 ระหว่างการเยือนปักกิ่งเพื่อมาหารือกับขุนศึกแห่งภาคเหนือ
    
        ก่อนเสียชีวิต ดร.ซุนได้ทิ้งคำสั่งเสียไว้โดยมีใจความสำคัญว่า "... จีนต้องการอิสระและความเท่าเทียมกันจากนานาชาติ ประสบการณ์ 40 ปีที่ผ่านมาของข้าพเจ้า สอนข้าพเจ้าว่า ในการบรรลุเป้าหมายในการปฏิวัติ เราจะต้องปลุกประชาชนให้ตื่นขึ้นมา ...... การปฏิวัติยังไม่เสร็จสิ้น ขอให้สหายทั้งหลายของเราดำเนินการตามแผนการของข้าพเจ้าต่อไปเพื่อฟื้นฟูบูรณะชาติของเราขึ้นมา" (หมายเหตุ : คำสั่งเสียดังกล่าวบันทึกโดย วังจิงเว่ย (汪精卫) คนสนิทของ ดร.ซุน ที่ต่อมาขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำของพรรคก๊กมินตั๋ง สามารถหาอ่านข้อความเต็มได้จาก หนังสือประวัติศาสตร์จีน โดย ทวีป วรดิลก บนที่ 24 หน้าที่ 882-883)
    
        หลังจากเสียชีวิต ศพของ ดร.ซุนยัดเซ็น ถูกนำไปตั้งไว้ชั่วคราวที่ วัดเมฆหยก (ปี้หยุนซื่อ:碧云寺) ตีนเขา เซียงซาน บริเวณเทือกเขาด้านตะวันตก (ซีซาน:西山) ชานกรุงปักกิ่ง เพื่อรอเวลาในการสร้าง สุสานซุนจงซาน ที่หนานจิงให้เสร็จสิ้น (ทั้งนี้ "ซีซาน" อันเป็นสถานที่ตั้งศพชั่วคราวของ ดร.ซุน นี้ในเวลาต่อมาระหว่างการแย่งอำนาจในพรรคก๊กมินตั๋ง สมาชิกก๊กมินตั๋งกลุ่มขวาเก่า ได้นำมาตั้งเป็นชื่อกลุ่มว่า "กลุ่มซีซาน" เพื่อแสดงความใกล้ชิด และแสดงว่าตนเป็นทายาทของ ดร.ซุนที่แท้จริง)
        ............................
        ที่หนานจิง สุสานซุนจงซาน (中山陵) อันตั้งอยู่บริเวณเนินทางทิศใต้ของของภูเขาจงซาน เริ่มสร้างใน เดือนมกราคม ค.ศ.1926 และเสร็จสิ้นในฤดูใบไม้ผลิ ปี ค.ศ.1929 โดยศพของ ดร.ซุนยัดเซ็น นั้นถูกย้ายจากปักกิ่งมาตั้งไว้ ณ สุสานแห่งนี้เมื่อ วันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ.1929
    
        มีการกล่าวถึงสาเหตุที่การสร้างสุสาน ดร.ซุนยัดเซ็น ณ บริเวณนี้ว่า ครั้งหนึ่ง ดร.ซุน เคยมาเยี่ยมเยือนบริเวณนี้ เมื่อสังเกตเห็นว่า เนินทางทิศใต้ของภูเขาจงซาน มีทัศนียภาพที่งดงาม และชัยภูมิที่ดีจึงเปรยเล่นๆ กับผู้ติดตามว่า เหมาะกับการสร้างสุสานของตน อย่างไรก็ตาม การเปรยเล่นๆ ดังกล่าวกลับมีผู้จดบันทึกเอาไว้
    
        ปัจจุบัน สุสานซุนจงซาน มีขนาดใหญ่โตกว่า สุสานหมิง ที่อยู่ข้างๆ อย่างเห็นได้ชัด โดยมีขนาดพื้นที่กว้างขวางถึง 8 หมื่นตารางเมตร โดย สุสานถูกออกแบบและสร้างให้เป็น ทางเดินหินลาดขึ้นไปตามเนินเขาที่ยาวกว่า 323 เมตร กว้าง 70 เมตร
    
        ประตูใหญ่ของสุสาน สร้างจากหินอ่อนขาวที่นำมาจากมณฑลฝูเจี้ยน ขณะที่หลังคาเป็นกระเบื้องออกแบบเป็นสีน้ำเงินคราม - - - สีขาว-น้ำเงินคราม อันเป็นสีธงประจำพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งหากสังเกตดูดีๆ แล้ว อาคารทั้งหมดของ สุสานซุนจงซาน ก็ออกแบบในโทน สีขาว-น้ำเงิน นี้
    
        เหนืออาคารแรกถัดจากประตูใหญ่ ผู้มาเยือนจะพบลายมือของ ดร.ซุน ที่เขียนเอาไว้ว่า " แผ่นดินเป็นของประชาชน (เทียนเซี่ยเหวยกง:天下为公)"
    
        อาคารหลังสุดท้ายของสุสานซุนจงซาน เป็นอาคารขนาดใหญ่ที่ครอบสุสานเอาไว้ ด้านหน้ามีตัวหนังสือเขียนเรียงไว้ว่า ชาตินิยม (民族), ประชาธิปไตย (民权) และ สังคมนิยม (民生) อันประกอบเป็น ลัทธิไตรราษฎร์ ที่ ดร.ซุน บัญญัติขึ้น
    
        ภายในอาคารมีรูปปั้นในท่านั่งของ ดร.ซุนยัดเซ็น ผลงานของ Paul Landowski ประติมากรชาวฝรั่งเศสขณะที่ผนังโดยรอบก็สลักไว้ด้วย "หลักการพื้นฐานในการสร้างชาติโดยสังเขป ของ ดร.ซุน" โดยเมื่อเดินผ่านเข้าไปหลักรูปปั้นนั่ง ก็จะพบกับห้องวงกลมอันเป็นห้องเก็บศพ โดยบนโลงศพนั้นประดับไว้ด้วยรูปปั้นขนาดเท่าตัวจริงของ ดร.ซุนเอง ที่ปั้นโดยศิลปินชาวเชก
    
        ในปัจจุบันหรือในอนาคต ไม่ว่าจีนแผ่นดินใหญ่ กับ จีนไต้หวัน จะมีความสัมพันธ์กันในรูปแบบใด สิ่งแน่ใจได้ประการหนึ่งก็คือ บุรุษผู้ตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางชีวิตจาก 'นายแพทย์ผู้รักษาชีวิตคน' มาเป็น 'นักปฏิวัติผู้ช่วยชีวิตประเทศจีน' ผู้นี้ คงเป็นบุคคลเพียงคนเดียวที่ทั้งชาวจีนทั้งสองฝั่งกล่าวได้เต็มปากว่า หากไม่มีเขาก็อาจไม่มีประเทศจีนในวันนี้
    
       อ่านเพิ่มเติม : บทความอื่นๆ จากคอลัมน์ริมจัตุรัสที่เกี่ยวข้องกับ ดร.ซุนยัดเซ็น
       - เที่ยวสือช่าไห่ แวะบ้าน "ซ่งชิ่งหลิง" ตอนที่ 2 และ ตอนที่ 3 (19 พ.ค. และ 27 พ.ค. 2547)
    
       ประวัติของ ดร.ซุนยัดเซ็น เรียบเรียงมาจาก :
       1.หนังสือ ประวัติศาสตร์จีนยุคใกล้และยุคปัจจุบัน (中国近现代历史概要) โดย ตู้จื้อจุน ของมหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง บทที่ 9-11
       2.หนังสือประวัติศาสตร์จีน โดย ทวีป วรดิลก สำนักพิมพ์สุขภาพใจ พ.ศ.2542 บทที่ 20 หน้าที่ 739-771 และ บทที่ 2 หน้า 877-913
       3.หนังสือที่สุดของเมืองจีน โดย สุขสันต์ วิเวกเมธากร : สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, 2543 หน้าที่ 83-87
       4.หนังสือ 孙中山在说 (2004) โดย ซุนจงซาน สำนักพิมพ์ตงฟัง
    
        ทั้งนี้หนังสือทั้ง 4 เล่มให้ข้อมูลบางประการเกี่ยวกับ ดร.ซุนยัดเซ็น คลาดเคลื่อนกัน ดังนั้นข้อมูลในบทความชิ้นนี้ผู้เขียนจึงอ้างอิงจาก เล่มที่สี่ เป็นหลัก และเสริมข้อมูลเพิ่มเติมจากหนังสืออีกสามเล่ม


พิมพ์จาก http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9470000051649