วัฒนา ให้สัมภาษณ์พิเศษ
- มองที่มาที่ไปของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯอย่างไร
แนวความคิดที่ออกมาตอนนี้เป็นแนวความคิดของข้าราชการเก่า สังคมข้าราชการเป็นสังคมทำลายล้าง จะเอาคนไม่ชอบหน้าออกไปจากกลุ่ม คนนี้ไม่ใช่พวกก็จะย้ายคนนี้ออกไป เพราะเขามองว่าคู่แข่งที่แข่งกันมาคือศัตรู อย่างทหารแข่งกันอยู่สองคนจะเอาคนนี้ขึ้น ต้องเอาอีกคนออกจากหน่วยไปเลย เพราะมันแข่งกันมาจึงมองหน้ากันไม่ได้ ซึ่งมันต่างจากสังคม
เราไม่สามารถย้ายคนไทยออกจากประเทศไทยได้ ต้องทำให้คนที่คิดไม่เหมือนกันอยู่ด้วยกันได้
แต่คนที่เข้ามาเขียนรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่มาจากข้าราชการ วิธีการคิดสร้างสังคมปรองดองคือเอาคนคิดเหมือนลูกน้องเขา คนคิดต่างเอาออกไปหมด ทางแก้มีอย่างเดียวคือ ความชอบธรรมของกติกาที่เป็นธรรม
- เจตนาที่คลอดคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ
(สวนทันที) ต้องการสืบทอดอำนาจ ก็มีแค่นั้นเอง มองว่าการเมืองอีกฝ่ายเป็นศัตรู ทำอย่างไรก็ได้เพื่อไม่ให้ฝ่ายผมชนะ หรือชนะก็บริหารไม่ได้ เพราะทุกครั้งไม่ว่ามีการปฏิวัติหรือเลือกตั้งทีไร พวกผมก็ชนะทุกที เลยต้องออกมาออกกฎกติกาเพื่อไม่ให้พวกผมทำงานได้
ปกติแล้วการปฏิรูปมันเน้นการมีส่วนร่วมในการปฏิรูป แต่ถ้าออกคำสั่งฝ่ายเดียวมันเรียกว่าสั่ง มันเป็นกระบวนการปิด คิดกันเองของคนกลุ่มหนึ่ง แล้วไปบอกว่าถูกแล้ว ดีงามแล้ว ประเทศจะเดินไปได้
แล้วถามว่าที่อยู่กันมาเขาปฏิรูปอะไร ผมไม่เห็นนายกฯปฏิรูปอะไรสักอย่าง ใช้อำนาจมาตรา 44 คือการปฏิรูปเหรอ แล้วรัฐบาลอื่นที่ไม่มีกฎหมายมาตรา 44 จะทำอย่างไร
- จึงมีคณะยุทธศาสตร์ฯที่ถอดแบบอำนาจมาตรา 44 เพื่อให้รัฐบาลหน้าสานต่อปฏิรูปได้
จะให้ประเทศอยู่ภายใต้คำสั่งแบบนี้ต่อไปเหรอ เรากลับมาตั้งหลักกันใหม่ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของใคร... เป็นของประชาชน แล้วไม่ฟังประชาชนได้ไง
- โครงสร้างกรรมการจึงมีนายกฯ
ที่มาจากเลือกตั้งตอบโจทย์ยึดโยงประชาชน
ใครคนคิดให้ ใครคนกำหนดคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯนี้ขึ้นมา ประชาชนหรือเปล่า คนเหล่านี้ไม่ได้มาจากประชาชนแม้แต่น้อย บอกว่ากรรมการต้องเป็นปลัดกระทรวงคนนั้น ผบ.ทบ. คนเหล่านี้คือใคร มาจากประชาชนที่ไหน แล้วใช้อำนาจแทนประชาชนได้อย่างไร
- ในโครงสร้างก็มีคนของรัฐบาล เช่น นายกฯ ประธานสภา อยู่ไม่เพียงพอ
แล้วที่เหลือเป็นใครบ้างล่ะ แม่ทัพทั้งหลาย แล้วอำนาจเป็นของใคร กลายเป็นอำนาจของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ
- ถ้ารัฐธรรมนูญผ่าน สปช. และผ่านประชามติ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯบังคับใช้ ภาพการเมืองจะเป็นอย่างไร
มันก็จะเกิดความวุ่นวาย เมื่อเจ้าของอำนาจคือประชาชน ไม่สามารถใช้อำนาจตัวเองได้ สมมุติพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคเพื่อไทย ชนะเสียงข้างมาก จัดตั้งรัฐบาลได้ แต่บริหารไม่ได้ เพราะมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯคอยถ่วง เหมือนบ้าน คุณเป็นเจ้าของบ้าน แต่ใช้สิทธิ์ในบ้านไม่ได้เลย เพราะไอ้คนทำตัวใหญ่เหนือเจ้าของบ้าน อยู่ได้ไหม สักวันก็ต้องทะเลาะกัน
- เมื่อคนการเมืองต่างก็มองเห็นอนาคต ควรตัดสินใจอย่างไรต่อรัฐธรรมนูญใหม่
อยากเรียกร้องให้พรรคการเมืองทุกพรรค ให้คนไทยหันมาสู้เพื่อประชาธิปไตย ไม่เอาก็ต้องแสดงออกว่าไม่เอา คัดค้านในสิ่งที่ไม่เห็นด้วย ถ้าพรรคการเมือง หรือคนกลัวแต่อำนาจ พูดมากก็ไม่ให้เดินทาง ใช้เรื่องการเดินทางเป็นอำนาจต่อรอง เสียงคัดค้านก็เบา แต่ถ้าทุกคนไม่กลัว ออกมาช่วยกันแบบนี้ไม่เอา เผด็จการก็อยู่ไม่ได้
- ถึงจุดหนึ่งพรรคการเมืองควรจะ
บอยคอตการเลือกตั้งไหมเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องพูดกันในระดับพรรค พูดเป็นความเห็นส่วนตัวไม่ได้ มันเป็นเรื่องใหญ่
- พอมีช่องทางรณรงค์โหวตโนเหมือนตอนทำประชามติรัฐธรรมนูญ 2550 หรือไม่
มีกฎอัยการศึกแบบนี้ มาตรา 44 ห้ามชุมนุมทางการเมือง จะทำอะไร จะประชุมพรรคเตรียมสู้คดีถอดถอนยังห้ามประชุมเลย แต่ฝั่งพวกเขาชุมนุมได้ ประชุม สนช.ก็เรียกชุมนุมทางการเมืองยังประชุมได้ กปปส.ก็ยังประชุมได้ แต่ฝั่งผมไม่ให้ทำ
- ข้อเสนอรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ 4 ปี จะเป็นยาวิเศษที่ทำให้เกิดความปรองดองหรือไม่
เป็นไปไม่ได้ ก็วิธีคิดเขาคิดแบบทหาร ไอ้นี่เหรอไม่ใช่พวกกู กูก็ย้ายออกจากหน่วย แล้วพอ 60 ปีเกษียณ ต่างคนก็ต่างกลับบ้าน แต่การเมืองไม่มีอายุ คุณเป็นรัฐบาลปรองดองได้ 4 ปี แล้วปีที่ 5 จะทำอย่างไร
- อาจจะดีขึ้นเพราะอยู่ร่วมกันถึง 4 ปี
ไม่มีทาง คุณเป็นแฟนแมนฯ ยูฯ ผมเป็นแฟนลิเวอร์พูล จะไปนั่งดูบอลด้วยกันอย่างไรก็ไม่เหมือนกัน แมตช์นี้นั่งดูบอลด้วยกัน จับมือกัน กินน้ำด้วยกัน โอเคไม่ตีกัน แต่ก็กัดฟันอยู่ เพราะคิดไม่เหมือนกัน
องค์ประกอบมันมีตั้งเยอะ เป็นรัฐบาลปรองดอง ใครจะมาเป็นนายกฯ วิธีคิดพวกนี้คือจะเอาเทวดาเหาะมาเป็นนายกฯ แค่แบ่งกระทรวงดูแลก็เป็นปัญหาแล้ว ทุกพรรคก็อยากได้กระทรวงที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ ที่เรียกว่ากระทรวงเกรดเอ เพราะมันมีผลต่อคะแนนเสียงของเขา
สมมุติรัฐมนตรีว่าการเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการเป็นของพรรคเพื่อไทย คิดเหรอว่าจะแบ่งงานดี ๆ ให้พรรคเพื่อไทยทำ หรือกลับกัน พรรคเพื่อไทยจะแบ่งงานดี ๆ ให้พรรคประชาธิปัตย์ มันเป็นอัตตา เป็นตัวตน ก็ต้องแบ่งของดี ๆ ให้พวกตัวเอง มันฝืนธรรมชาติ
- แต่รัฐบาลปรองดองจะกลายเป็นหนึ่งคำถามในประชามติ ถ้าประชาชนเห็นชอบขึ้นมาจะทำอย่างไร
ถามหลาย ๆ คนที่เขียนรัฐธรรมนูญที่แต่งงานแล้วหย่ามา งานแต่งงานก็ประกาศว่าจะรักกันมั่นคง มีแขกมาเป็นสักขีพยานแล้วอยู่ด้วยกันได้ไหม
- ผลประชามติ มันผูกมัดยิ่งกว่าแต่งงานแล้วหย่ากัน
ประชามติมันก็เหมือนสักขีพยานคือประชาชน ผมบอกประชามติมันทำให้คนรักกันได้ที่ไหน มันจะรักกันได้ไม่ได้มันอยู่ที่ตัวคุณ ไม่ได้อยู่ที่สักขีพยาน ต่อให้ประชามติบอกว่า พรรคการเมืองต้องรักกัน
มันรักกันได้ที่ไหนเล่า ไปเขียนกฎหมายมาตรา 44 บอกให้รักผู้หญิงคนนี้ มันรักได้เหรอ
- ใจอาจไม่รักแต่สภาพกฎหมายบังคับให้อยู่ด้วยกัน
มันบังคับไม่ได้หรอก บังคับให้ตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ ตั้งแบบไหน เลือกตั้งมาแล้วไปหานายกฯคนกลาง มารวมกันตั้งรัฐบาลอย่างนั้นเหรอ พอเข้าไปเป็นรัฐบาลมันก็เริ่มตีกันแล้ว
- มันมีสภาพบังคับโดยเสียงประชาชน ให้สองพรรคใหญ่มาอยู่ด้วยกัน
มันฝืนธรรมชาติ มันไม่มีหรอกประชามติ ตั้งคำถามหลอกประชาชน มีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติไหม เขาจะได้รักกัน
- พรรคการเมืองมีสิทธิ์ไม่ทำตามผลของประชามติได้หรือไม่
ก็แล้วแต่ คือ...ให้มีรัฐบาลปรองดองจะมีผลบังคับอะไร เกิดพวกผมไม่เข้าร่วมล่ะ ผมไม่เอา ไม่เข้า ผมคิดว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง ไม่เอา...แล้วไง มันบังคับกันได้ทุกเรื่องเหรอ วิธีตั้งคำถามหลอกประชาชนง่ายนิดเดียว บ้านเมืองแตกแยก เราควรมีรัฐบาลสองพรรคมาจับมือกันปรองดองจะได้รักกัน คนฟังก็เห็นดีด้วย อยู่ที่คำถามปลายมันเปิดแบบไหน
- หากคำถามเปิดแบบนี้ แล้วพรรคเพื่อไทยไม่เข้าร่วมรัฐบาลปรองดองจะถูกมองว่าฉีกประชามติหรือไม่
ไม่เกี่ยว ไม่เกี่ยว ก็เรามีอุดมการณ์ของเรา ก็ว่าไปตามสิ่งที่เรามีอุดมการณ์ เหมือนกับที่เขียนกฎให้ผมปฏิบัติ มันไม่เป็นธรรม ทำไมผมต้องไปฟัง มันไม่ได้สั่งกันได้ทุกเรื่องหรอก
เชื่อเถอะว่าบ้านเมืองมันไม่มีทางสงบหรอก ถ้าเราไม่เอายุติธรรมใส่ แล้วถ้าเอาหลักเกณฑ์ไปผิดธรรมชาติมันอยู่ได้ไม่นาน แล้วเราจะไปฝืนทำไม
- ถ้าฝืนธรรมชาติจะเกิดอะไรขึ้น
ก็กลับมาฆ่ากันใหม่ ท้ายที่สุดประชาชนก็ต้องมีเรื่อง มันเกิดภาวะสองมาตรฐานไหม อย่าง สนช.ไปถอดถอน ส.ส. แล้วเสียงพอไม่ถอน พรรคก็ไปขอบคุณ ผมแค่แก้รัฐธรรมนูญก็หาว่าล้มล้างการปกครอง อีกฝั่งหนึ่งปิดสถานที่ราชการ ศาลบอกว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ คิดว่าคนจะบอกว่ามันแฟร์เหรอ...คือกระบวนการที่เกิดขึ้นในขณะนี้ทั้งหมดมันมัดมือชก
- เหตุผลที่จะเอามาฉีกประชามติ หรือแก้เชือกที่มัดมืออยู่ ต้องเป็นเหตุผลแบบไหน
ก็ไม่ฉีก สมมุติเชิญผมเข้าร่วมรัฐบาล แต่ผมไม่เข้าร่วมไม่ได้แปลว่าผมฉีกประชามติ เราก็หาเสียงบอกประชาชน ถ้าชนะเลือกตั้งเราก็จัดตั้งเป็นรัฐบาล ถ้าแพ้ก็เป็นฝ่ายค้าน เพราะการขัดขืน การไม่ปฏิบัติ
ตามแบบอารยะขัดขืน ไม่เอาด้วย ผมก็สละสิทธิ์ เชิญมาร่วมรัฐบาลแห่งชาติก็ว่ากันไป
- อารยะขัดขืนเข้าร่วมรัฐบาลปรองดอง
ไม่ใช่อารยะขัดขืน ผมไม่เห็นด้วยตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ไม่มีใครไม่เห็นด้วยกับกระบวนการปรองดอง แต่นี่ไม่ใช่กระบวนการปรองดอง คุณไปคิดชื่ออุปโลกน์ขึ้นมาเอง
- คสช.บอกว่าการเมืองปรองดองไม่ได้หรอก เพราะลองทุกวิถีทางแล้ว
ก็ยึดอำนาจมันต่อไปสิ
No comments:
Post a Comment
Note: Only a member of this blog may post a comment.